Pages

Monday, November 21, 2011

๑๔๐. เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ เธอจะลืมมันไปไหมนะ



ช่วงเวลาเกือบเดือนที่ว่างเว้นจากงานสอน เพราะคณะฯ ปิดเรียนให้อาจารย์และนักศึกษาลี้ภัยธรรมชาติ สำหรับตัวผมเองนั้นนอกเหนือจากงานรักษาและงานเบ็ดเตล็ดที่ทำอยู่เป็นประจำแล้ว ยังมีเวลาเหลือพอให้นั่งดูหนังและการ์ตูนเอนิเมชันได้อย่างสบายใจ ขอบคุณช่วงเวลานี้ที่ทำให้รู้สึกราวกับว่าได้กลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง อาจจะเหงาใจอยู่บ้างก็ตรงที่ไม่มีนักศึกษาให้ “กินหัว” เหมือนอย่างเคย

ในบรรดาการ์ตูนทั้งหมดนั้น เรื่องที่โดนใจผมที่สุด, และก็เป็นเรื่องเดียวในใจตลอดมา, คือ โดราเอมอน เดอะ มูฟวี่

ดูเหมือนว่า โดราเอมอน เดอะ มูฟวี่ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้  ผู้สร้างจะหยิบเอาเรื่องราวจากต้นฉบับเดิมเมื่อหลายสิบปีก่อนกลับมาปิดฝุ่นสร้างใหม่ โดยปรับภาพให้สวยงามสมจริงมากขึ้น ทั้งยังดัดแปลงเนื้อเรื่องบางตอนให้แตกต่างไปจากเดิม เพื่อความเหมาะสมกับยุคสมัย เช่น โนบิตะและเพื่อนๆ ตอนนี้ขึ้นชั้น ป.๕ กันหมดแล้ว หลังจากเรียนอยู่ชั้น ป.๔ มานาน

ถึงแม้โดราเอมอน เดอะ มูฟวี่ฉบับใหม่จะแตกต่างไปจากต้นฉบับเดิมอยู่บ้าง แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนไปคือ เรื่องราวที่แฝงด้วยความกล้าหาญ ความรักและมิตรภาพที่มีอยู่อย่างไม่จำกัดในตัวละคร เร้าอารมณ์ให้รู้สึก “อิน” จนน้ำตาไหลไม่รู้ตัว

เหนือสิ่งอื่นใด, การ์ตูนเรื่องนี้ไม่เคยขาด “ความฝัน” และ “จินตนาการ” เลยสักครั้ง

----------


ความฝันกับความจริง อยู่คู่กันเสมอ

----------

เชื่อว่าหลายคนคงคุ้นเคยกับการ์ตูนเรื่องโดราเอมอนเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นคนในช่วงอายุใดก็ตาม ผมเองก็ไม่ต่างกันครับ จะบอกว่าการ์ตูนเรื่องนี้อยู่กับผมมาเกือบทั้งชีวิตเลยก็ว่าได้ โดราเอมอนเป็นการ์ตูนเรื่องแรกที่คุณแม่ซื้อให้ตั้งแต่เมื่อผมยังเรียนอยู่ชั้นอนุบาล ท่านอยากให้ผมหัดอ่านหนังสือเสียบ้าง จะได้ “เรียนหนังสือ” สักที ดีกว่าเที่ยววิ่งเล่นไปวันๆ

ท่านบอกว่าการอ่านการ์ตูนจะช่วยให้เรียนรู้การใช้ภาษาได้ดี เพราะการ์ตูนมีภาพประกอบเกือบทุกคำพูด ช่วยให้เด็กเข้าใจสีหน้าท่าทางของตัวละคร ตลอดจนเหตุการณ์ที่สอดคล้องกับคำพูดเหล่านั้น แต่มีข้อแม้ว่าต้องเลือกการ์ตูนที่เหมาะสมกับวัย และใช้ภาษาได้ถูกต้องพอสมควร

ประโยชน์ข้อนี้แตกต่างจากหนังสือนิทานภาพทั่วไปที่มักจะมีข้อความยืดยาว มีภาพประกอบเพียงไม่กี่ภาพ แม้จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ทั้งด้านทักษะภาษาและคุณธรรมจริยธรรม แต่เด็กอาจจะนึกภาพไม่ออกว่าตัวละครแสดงอารมณ์อย่างไรบ้างในขณะที่พูด เว้นเสียแต่จะมีคนช่วยทำท่าทางประกอบหรือคอยอธิบายให้เห็นภาพอีกที

ที่กล่าวเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าหนังสือนิทานภาพจะไร้ประโยชน์ไปเสียทั้งหมด อันที่จริงแล้วหนังสือสำหรับเด็กทุกประเภทล้วนมีประโยชน์ด้วยกันทั้งนั้น เพียงแต่อาจจะเหมาะสมกับพัฒนาการในวัยที่แตกต่างกันไปเท่านั้นเอง

อีกประการหนึ่ง, ที่เรียกกันว่าหนังสือการ์ตูนสำหรับเด็กนี้ ไม่ได้หมายความว่าผู้ใหญ่อย่างพวกเราจะอ่านกันไม่ได้ หรืออ่านแล้วจะกลายเป็นเด็กที่ไม่รู้จักโตก็คงไม่ใช่ เพียงแต่บอกให้รู้ว่าอ่านกันได้ไม่จำกัดวัย ในบางคราวที่เราไม่สบายใจ เผลอลืมตัวตนของเราไปชั่วขณะ การได้กลับไปอ่านการ์ตูนเก่าๆ แล้วนึกถึงความรู้สึกในวัยเด็กที่ยังมีความฝันและจินตนาการ ก็ทำให้เราเข้าใจตัวเราเองในตอนนี้ได้ดีไม่น้อย

เราจะมองเห็นว่าในวันนั้นเราคิดอะไร เราเดินมาถึงวันนี้ได้อย่างไร และในวันข้างหน้าเราจะเดินต่อไปอย่างไรดี

----------



โดราเอมอน เดอะมูฟวี่ 2011
ตอน โนบิตะกับกองทัพมนุษย์เหล็ก (ปรับปรุงใหม่)

ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
----------

บทเพลงต้นเรื่องโดราเอมอน เดอะ มูฟวี่ฉบับใหม่ ตั้งคำถามกับพวกเราทุกคนว่า "...เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ เธอจะลืมมันไปไหมนะ, ณ เวลานั้นลองนึกมันขึ้นมาดูสิ - ในหัวใจของฉันนั้น มีความฝันที่เปล่งประกายตลอดเวลา..."

วันเวลาและเรื่องราวที่ผ่านเข้ามาในชีวิตมักจะเข้มงวดกับพวกเราเสมอ คอยสอนให้เราเข้มแข็ง สอนให้เราเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี แต่พร้อมกันนั้นก็ทำให้เราหลงลืมความรู้สึกดีๆ ที่เราเคยมีในวัยเด็กไป จนท้ายที่สุดในวันที่เราเติบโตเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว มีตัวตนอยู่ในสังคมจริงๆ แล้ว เราก็ไม่หลงเหลือความเป็นเด็กอีกต่อไป

คนส่วนใหญ่มักเป็นอย่างนั้น เราจึงพบเห็นผู้ใหญ่หลายคนที่จริงจังกับชีวิตราวกับแบกโลกทั้งใบไว้บนบ่าของตนเอง หรือผู้ใหญ่ที่คอยเต้นไปตามจังหวะสังคม ตามแต่โลกจะชี้นำให้พวกเขาเดินไปในทิศทางใด โดยที่พวกเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากำลังทำอะไร เพื่ออะไร และคงไม่มีวันรู้ได้เลย

พวกเขาลืมความตั้งใจ ลืมความฝันและจินตนาการของตนเองไปเสียแล้ว พวกเขาปฏิเสธมันเพียงเพราะไม่ต้องการให้คนรอบข้างดูถูกว่าเป็นเด็กที่ไร้ประสบการณ์ อย่าคาดหวังจุดมุ่งหมายในชีวิตจากพวกเขาเลย เขาไม่หลงเหลือตัวของตัวเองอีกแล้ว เขามีชีวิตอยู่เพียงเพื่อทำตามความต้องการของสังคมในฐานะผู้ใหญ่ที่ดีและเพียบพร้อม สมควรแก่การยกย่องนับถือ

พวกเขาลืมได้แม้กระทั่งวัยเด็กของตนเอง

ผมไม่ได้ต้องการให้ทุกคนจมอยู่กับอดีตจนกลายเป็นเด็กที่ไม่รู้จักโต การทำอย่างนั้นมีแต่จะทำร้ายตัวเองเท่านั้น เราทุกคนย่อมเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ตามวันเวลาที่หมุนผ่านไปเป็นธรรมดา แต่สิ่งที่โดราเอมอนชวนให้เราขบคิดคือ เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่พร้อมกับยังคงเก็บความฝันและจินตนาการเอาไว้กับตัว ไม่ปล่อยให้หล่นหายไปตามทาง

“...เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ เธอจะลืมมันไปไหมนะ...”, เราคงต้องถามตัวเองอย่างนี้เสมอ

----------

"...เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ เธอจะลืมมันไปไหมนะ..." 

----------

สังคมสมัยใหม่สอนให้เราเชื่อตามกันมาว่า ความฝันและจินตนาการเป็นสิ่งสะท้อนความเป็นเด็กที่ไม่รู้จักโต อ่อนด้อยประสบการณ์ ถ้าอยากเป็นผู้ใหญ่ที่ดีแล้วควรลืมมันไปเสีย ให้ทำราวกับว่ามันไม่เคยมีอยู่จริงในชีวิตของเรา

ทั้งๆ ที่เราทุกคนเคยผ่านชีวิตในวัยเด็กกันมาแล้วทั้งนั้น, จะช้านานเพียงไรก็สุดแต่ตัวเลขอายุของแต่ละคน, คงไม่มีใครปฏิเสธได้เลยว่า ด้วยความฝันและจินตนาการนี้เองที่ผลักดันให้เราเติบโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาได้

ไม่ใช่เพราะความฝันที่ว่า "โตขึ้น ฉันอยากเป็น..." หรอกหรือ ที่เป็นกำลังใจให้เราก้าวผ่านเรื่องราวร้ายๆ จนมายืนอยู่ ณ จุดนี้ได้

เมื่อความฝันและจินตนาการเป็นเสมือนแรงขับดันในจิตใจของเรา เราจะละทิ้งมันไปได้อย่างไร เราแข็งแกร่งมากพอที่จะมีชีวิตอยู่โดยปราศจากกำลังใจใดๆ อย่างนั้นหรือ – เป็นไปไม่ได้เลย, เราทำไม่ได้หรอก, หากเรายังรักที่จะเป็นตัวของตัวเอง ไม่ขายวิญญาณให้กับใครไปเสียก่อน

ความฝันและจินตนาการเป็นพื้นฐานจิตใจของเด็กก็จริง แต่มันไม่ได้สะท้อนความเป็นเด็กไม่รู้จักโตอย่างที่เราเชื่อกัน ในทางตรงกันข้าม มันคือสิ่งสำคัญในใจของพวกเราทุกคน เป็นแรงขับดันให้เราก้าวไปข้างหน้าได้ด้วยตัวของเราเอง และทำให้เราเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้อย่างทุกวันนี้

หากเราละทิ้งมันไปแล้ว ไม่แน่ว่าเราอาจจะหลงทางอยู่ในวังวนแห่งความจริงที่โหดร้ายอย่างไร้จุดหมาย ไร้แรงต่อสู้ และไม่สามารถกลับออกมาได้อีกเลย

----------



----------

"...ในเวลาที่เราเหนื่อยล้ากับโลกแห่งความจริง อ่อนไหวกับวันเวลาที่แข็งกร้าว หมดเรี่ยวแรงจะเดินต่อไป ลองนั่งพักหน่อยดีไหม ผ่อนคลายลมหายใจเบาๆ แล้วนึกย้อนกลับมาถามตัวเองว่า เราเคยฝันไว้ว่าอย่างไร เราเคยจินตนาการถึงตัวเราเองในตอนนี้ไว้ว่าอย่างไร สิ่งใดกันที่ผลักดันให้เราเดินตามความฝันนั้นมาได้จนถึงวันนี้..."

เมื่อรู้แล้วขอให้เก็บมันไว้กับใจ เก็บไว้เป็นต้นทุนให้เราก้าวเดินต่อไปข้างหน้าอย่างมั่นคง

ผมเชื่อว่า โดราเอมอนคงอยากจะบอกกับพวกเราอย่างนี้เหมือนกัน

----------

เพียงถ้อยคำธรรมดา ที่กลั่นกรองออกมาจากหัวใจ
ขอบคุณสำหรับทุก comment ครับ




Monday, November 14, 2011

๑๓๙. ให้เราได้ดูแลใจของเราเอง



ผมเพิ่งจะเปิดบล็อกใหม่ ชื่อ Anatomy for Siriraj Medical Students สำหรับรวบรวมสรุป Anatomy ที่ผมใช้ทบทวนให้กับน้องๆ นักศึกษาแพทย์ เก็บไว้ให้เป็นหมวดหมู่ หลังจากที่โพสต์ลงใน facebook เรื่อยมาตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม

แม้โดยอาชีพแล้วผมจะทำงานในสายวิชาการ แต่การเขียนงานที่เป็นวิชาการล้วนๆ ยังคงเป็นเรื่องที่ท้าทายผมเสมอมา ยิ่งเมื่อต้องเป็นสะพานเชื่อมระหว่างเนื้อหาวิชาการที่หนักอึ้งกับการเรียนรู้ของเด็กวัยรุ่นตอนปลายที่เพิ่งจะผ่านชั้นมัธยมปลายมาไม่กี่ปี ความท้าทายก็ยิ่งเพิ่มดีกรีมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

เด็กก็คือเด็ก, เราทุกคนเข้าใจความรู้สึกนี้ดี, แม้จะผ่านวัยรุ่นมาจนโตพอจะรับผิดชอบตัวเองได้บ้าง แต่การต้องพบเจออะไรที่หนักหนาเกินไปอย่างฉับพลัน ก็ใช่ว่าทุกคนจะรับได้ทันเสมอไป ยังมีอะไรอีกมากมายที่พวกเขาต้องค่อยๆ ปรับตัวและเรียนรู้กันไป

จริงอยู่ว่า อุปสรรคคือเครื่องมือฝึกฝนให้พวกเขา – และพวกเรา – แข็งแกร่งมากขึ้น และการเอาชนะอุปสรรคได้ก็หมายความว่าชีวิตก้าวหน้าไปอีกขั้น แต่เพียงแค่การเอาชนะอุปสรรคได้นั้นยังไม่เพียงพอ ยังต้องมีมุมมองที่ดีต่ออุปสรรคนั้นด้วย จึงจะเอาชนะมันได้อย่างสมบูรณ์

เมื่อผมคือคนกลาง มีอะไรที่ผมพอช่วยเหลือได้บ้างก็ช่วยเหลือกันไป การช่วยเหลือนี้ไม่ใช่ว่าจะไปทำให้อุปสรรคมีความท้าทายน้อยลง ถ้าทำอย่างนั้นเด็กๆ คงไม่ได้พัฒนาตัวเอง ซ้ำร้ายยังเป็นการดูถูกพวกเขาจนเกินไป หน้าที่ของผมเพียงแต่ช่วยให้พวกเขามีมุมมองที่ดีต่ออุปสรรคและกล้าเผชิญมันด้วยความสามารถทั้งหมดที่เขามี

ให้พวกเขารู้สึกว่า การต่อสู้นั้นเกิดจากเสียงเรียกร้องภายในใจของพวกเขาเอง ไม่ใช่ว่าใครมาบังคับกะเกณฑ์ให้พวกเขาทำ

----------


ต้นฉบับบทความเรื่องนี้ เขียนด้วยดินสอบนกระดาษ A5
ผมมีโน้ตบุ๊คเป็นของตัวเองแล้ว แต่บ่อยครั้งที่ผมร่างต้นฉบับด้วยวิธีง่ายๆ
มันไม่ได้สื่ออะไรมากไปกว่า "ความพอใจ" ของผมล้วนๆ

----------

คงไม่ใช่เฉพาะเด็กๆ หรอกครับ ผู้ใหญ่เราก็เหมือนกัน

ผมเชื่อว่า การทำตามเสียงหัวใจเรียกร้องเป็นสิ่งสำคัญ ตราบเท่าที่มันจะทำให้เรามีความสุขความพอใจในปัจจุบัน และไม่ทำร้ายอนาคตของตัวเราเอง

การอยู่กับเด็กๆ สอนให้ผมตระหนักว่า หลายครั้งที่ผมเลือกทำตามใจตนเองเหมือนอย่างเด็กๆ เพียงเพราะใจอยากจะทำ มันท้าทาย มันน่าสนุก มันน่าสนใจ – แล้วก็ลงมือทำ มีทั้งที่ทำสำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง หลายอย่างก็ยังไม่ถึงจุดสิ้นสุดหรือไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อไร แต่ผมไม่ได้คาดหวังความสำเร็จขนาดนั้น ผมไม่ได้หวังจะเป็นเลิศอะไรมากมาย ผมก็แค่อยากทำ

หลายคนคงคุ้นเคยกับการทำกิจกรรมบางอย่างที่อาจจะไม่ได้ช่วยให้เราประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ในชีวิต, ตามนิยามของความสำเร็จในสังคมสมัยใหม่, แต่เราทำแล้วเราพอใจ เรามีความสุข มันอาจจะทำให้เราเสียเวลาไปบ้าง แต่ก็เป็นประสบการณ์ที่ดี ให้เราเก็บมาคุยโวให้ใครต่อใครฟังได้อยู่เรื่อยๆ

บางที, ความสำเร็จยิ่งใหญ่ในชีวิต ที่มุ่งมองแต่ชื่อเสียง เงินตรา และอำนาจ ก็อาจไม่ใช่คำตอบสำหรับเราทุกคน มันอาจมีประโยชน์ในแง่ที่ช่วยให้ชีวิตของเราไม่แร้นแค้นจนเกินไป แต่การต่อสู้ดิ้นรนอยู่บนความทุกข์เพียงเพื่อให้ประสบความสำเร็จอย่างนั้นคงไม่เป็นสิ่งที่พึงปรารถนา และเมื่อถึงจุดหนึ่ง มันอาจจะมีคุณค่าน้อยกว่าการทำตามสิ่งที่ใจเราเรียกร้องก็เป็นได้

ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างที่ใจเรียกร้องเป็นสิ่งที่ดีที่ถูกต้องไปทั้งหมด เราคงต้องคำนึงถึงจริยธรรมและบรรทัดฐานของสังคมไปพร้อมกัน ถ้าความพอใจนั้นเป็นประโยชน์แก่เราแต่กลับเป็นผลเสียต่อผู้อื่นแล้ว คงไม่ใช่สิ่งที่เราควรกระทำ และโทษของมันจะย้อนกลับมาบั่นทอนจิตใจของเราเอง แต่หากมันไม่ได้ทำร้ายใคร – ทั้งคนอื่นและตัวเรา – ก็ทำไปเถอะ

ปล่อยให้ใจได้ตามใจตัวเองบ้าง เราอาจจะมองเห็นโลกในมุมมองที่งดงามมากขึ้นก็เป็นได้

----------



----------

สังคมทุกวันนี้มีกฎเกณฑ์ข้อบังคับมากมาย หลายอย่างเป็นสำนึกร่วม เป็นวาทกรรมครอบงำความรู้สึกนึกคิดของเรา สังคมกำลังมีอิทธิพลเหนือใจเรามากขึ้นทุกที มากเสียจนเราหลงเชื่อว่า ความคาดหวังและความสำเร็จของสังคมมีค่ามากกว่าความสุขของใจเราเอง

ผมไม่ได้พยายามสร้างลัทธิปัจเจกชนนิยม (Individualism) ที่เรียกร้องให้ทุกคนทำตามใจตัวเองโดยไม่สนใจผลกระทบต่อคนรอบข้าง นั่นเป็นความเข้าใจผิดที่อันตรายอย่างยิ่ง ผมยังเชื่อว่าคนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและจะแยกจากกันไปไม่ได้ เพียงแต่ผมเห็นว่าเราควรย้อนกลับมาทบทวนความต้องการที่แท้จริงของเราเองบ้าง ดูแลหัวใจของเราเองบ้างก่อนจะสายเกินไป ก็เท่านั้นเอง

เวลาและแรงบีบคั้นจากสังคมทำให้เราเปลี่ยนแปลงไปได้มาก เราเชื่อมั่นว่าภาระงานและการทำตามความคาดหวังของสังคมจะช่วยให้เรามีความสุข แต่นั่นทำให้เราเดินบนทางที่สุดโต่งจนเกินไป ทุ่มเทมากจนเกินไป เราเผลอคิดไปว่าสังคมจะให้คำตอบกับเราทุกอย่าง แต่คำตอบสุดท้ายที่เราได้รับคือ “เราคิดผิด”

หลังจากบ้างานอยู่พักใหญ่, จนรุ่นน้องคนหนึ่งเตือนผมให้รู้สติ, ผมกลับมาถามตัวเองว่าผมกำลังทำอะไรอยู่ ผมได้คำตอบ ผมเริ่มจัดตารางชีวิตตัวเองใหม่ ผมลดภาระงานที่เกินความจำเป็นลงไป ผมสอนในเวลาที่พอเหมาะ ซึ่งทำให้ตัวผมและคนเรียนพอใจ ผมแบ่งเวลาทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ผมเคยทำและอยากทำ ซึ่งมันทำให้เวลาของผมมีคุณค่าเพิ่มขึ้นกว่าเดิมอีกมาก

ไม่ใช่ว่างานของผมไร้ความสุข ตรงกันข้าม, ผมรักงานสอนและพร้อมจะทำงานนี้เสมอ แต่ถ้ามันจะเป็นเพียงการโชว์ความสามารถเพื่อให้ได้ก้าวหน้าและโดดเด่น แต่กลับทำร้ายตัวผมเองและอาจทำร้ายคนอื่นไปโดยไม่รู้ตัว ผมจะทนทำต่อไปได้อย่างไร

----------



----------

นอกจากงานสอนแล้ว งานเขียน แต่งกลอน วาดภาพ ออกกำลังกาย ตลอดจนกิจกรรมเบ็ดเตล็ดอีกหลายอย่าง คือสิ่งที่หัวใจของผม – และของใครอีกหลายคน – เรียกร้อง ผมมีเวลาคลุกคลีอยู่กับมันมาเกือบตลอดชีวิตการเรียนในมหาวิทยาลัย แม้ว่างานส่วนใหญ่จะเป็นงานเบื้องหลัง ทำแล้วไม่โดดเด่น ไม่มีใครรู้จัก แต่คงไม่ใช่เรื่องสำคัญที่ผมจะต้องแคร์

ไม่ใช่ว่าทุกครั้งที่เราจะทำอะไรโดยคาดหวังถึงความโดดเด่น มีชื่อเสียง หรือเกิดผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่จนเกินตัว การคาดหวังมากเกินไปอย่างนั้นทำให้เราเป็นทุกข์ ทุกข์จากแรงกดดัน ทุกข์จากความล้มเหลว หรือแม้สำเร็จไม่ถึงเป้าหมายก็ยังเป็นทุกข์อีกเหมือนกัน

ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราทำในสิ่งที่เราอยากทำ มันอาจจะไม่ใช่เรื่องที่ยิ่งใหญ่ แต่เมื่อหัวใจของเราเรียกร้อง ไม่ต้องรอให้สำเร็จเป็นผลงานอัศจรรย์ใดๆ เลย เพียงแค่ลงมือทำก็มีความสุขแล้ว ยิ่งหากเป็นงานที่ “ใช่” จริงๆ ให้ทำไปอีกนานเพียงไรก็ไม่เบื่อ

นอกจากชื่อเสียง เงินตรา และอำนาจแล้ว ยังมีความสำเร็จอื่นๆ อีกมากมายที่เปิดโอกาสให้เราได้ไขว่คว้ามาไว้กับตัวโดยไม่เบียดเบียนใคร เพียงแต่อาจจะไม่ใช่ความสำเร็จกระแสหลักในสังคม เป็นเพียงความสุขๆ เล็กที่สัมผัสได้ในใจของเราเอง

อยู่ที่ว่า “เรา” พร้อมจะทำมันหรือยัง

----------



----------

"...แบ่งเวลาดูแลหัวใจบ้าง ถามตัวเองว่าแท้จริงแล้วเราต้องการอะไรกันแน่ ไม่ต้องถึงขั้นละทิ้งงานทั้งหมดของเราหรอก แค่พักพอให้หัวใจได้ผ่อนคลายลมหายใจบ้าง เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว..."

----------

เพียงถ้อยคำธรรมดา ที่กลั่นกรองออกมาจากหัวใจ
ขอบคุณสำหรับทุก comment ครับ





Thursday, November 10, 2011

[คั่นเวลา] กระทงน้อย : ลอยกระทง ๒๕๕๔




กระทงน้อยลอยวนสายชลเชี่ยว
ละล่องเลี้ยวเกลียวคลื่นสะอื้นไห้
โอ้กระทงหลงทางมาร้างไกล
มาร้างใจให้เหงาให้ร้าวราน

เจ้าหลงมาจากไหนหนอใคร่รู้
มาลอยลู่อยู่เอกาน่าสงสาร
ในคืนเพ็ญเย็นโพยมจันทร์โลมธาร
เจ้าเคลื่อนผ่านธารยาวยะเยือกเย็น

ผ่านความเจ็บความช้ำที่ย้ำชัด
กระหน่ำซัดพระคงคามาให้เห็น
ให้รู้ฝืนกลืนกล้ำรู้ลำเค็ญ
ประหนึ่งเป็นธรรมดาชะตากรรม

กระทงน้อยจะลอยไกลเพียงไรหนอ
จะไปต่อก็หวั่นใจกลัวไหวคว่ำ
กลางเกลียวคลื่นครืนคลั่งประดังกระทำ
ฤาอาจทนหม่นช้ำระกำทรวง

จึงข้าหวังตั้งจิตอธิษฐาน
กลั่นกรองกานท์ซ่านซึ้งส่งถึงสรวง
ช่วยประคองกระทงให้พ้นภัยปวง
และลอยล่วงสู่ฝั่งฝันเร็ววันเทอญ

รัตนาดิศร
ค่ำคืน พฤ. ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๔

...


...

เพียงถ้อยคำธรรมดา ที่กลั่นกรองออกมาจากหัวใจ
ขอบคุณสำหรับทุก comment ครับ



Monday, November 7, 2011

๑๓๘. สัญชาตญาณดิบ !!!



เมื่อยังเรียนอยู่ อาจารย์เคยสอนผมว่า ธรรมชาติของคนเราขับเคลื่อนด้วยพลังพื้นฐาน ๒ ประการ ประการแรกคือ ความก้าวร้าว (mortido) และประการที่สองคือ ความต้องการทางเพศ (libido); พลังพื้นฐานทั้ง ๒ ประการนี้เป็นหัวใจสำคัญของการมีชีวิตอยู่ ให้เราต่อสู้กับความโหดร้ายที่ผ่านเข้ามา และสืบทอดเผ่าพันธุ์ของเราต่อไปอีกนาน

ผมทราบต่อมาภายหลังว่า เรื่องนี้เป็นทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของนายแพทย์ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud : 1856 – 1939) ผู้ซึ่งเพื่อนๆ หลายคนของผมลงความเห็นว่า เขาหมกมุ่นในเรื่อง “อย่างว่า” มากจนเกินไป

ไม่ว่าฟรอยด์จะหมกมุ่นจริงหรือไม่ก็ตาม ทฤษฎีของเขาก็เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป แม้คนเราจะมีพฤติกรรมหลายอย่างที่ซับซ้อนเกินกว่าจะเข้าใจได้โดยง่าย แต่นักจิตวิเคราะห์ยังสามารถประยุกต์ใช้ความรู้พื้นฐานของฟรอยด์ได้จนถึงปัจจุบัน

หลายทฤษฎีอาจปรับเปลี่ยนไปจากเดิม แต่คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่ามีพัฒนาการต่อเนื่องมาจากความคิดของ ฟรอยด์

บางทีอาจไม่ใช่แค่ฟรอยด์หรอกที่หมกมุ่นในเรื่อง “อย่างว่า” แต่เป็นเรา – คนเรา – ทั้งหมดนี้แหละ แต่ไม่กล้าจะยอมรับกันเอง

...


นายแพทย์ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud : 1856 – 1939)
บิดาแห่งวิชาจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis)

...

เวลาเกิดเหตุการณ์โกลาหล คนมักลืมนึกถึงเรื่องอื่นใดนอกเหนือไปจากความอยู่รอดของตนเอง อาจมีบ้างที่หมายรวมครอบครัวและคนรักเอาไว้ด้วย แต่ความต้องการนั้นไม่ใช่เพื่อต่อชีวิตของคนอื่นคนใด หากแต่เพื่อไม่ให้สูญเสียใครที่ตนเองต้องการ

สถานการณ์แบบนี้ เราคงเคยเห็นภาพยนตร์หลายเรื่องที่พระเอกช่วยเหลือนางเอกจนรอดพ้นจากภยันตราย ด้วยเหตุผลที่ว่า “ผมกลัวจะเสียคุณไป” เขาพูดทั้งน้ำตา ก่อนจะโผเข้ากอดด้วยความรักอย่างสุดซึ้ง

ดูแล้วชักไม่ค่อยแน่ใจว่า ในความจริงแล้วพระเอก “กลัวว่าคุณจะเป็นอันตราย” หรือ “กลัวว่าจะเสียคุณไป” กันแน่ ผมอาจจะคิดมากจนเกินไปในเรื่องนี้ แต่เชื่อว่าคำพูด ๒ ประโยคนี้มีความหมายไม่เหมือนกัน

ประโยคแรกเน้นที่ตัวนางเอก กลัวว่านางเอกจะต้องบาดเจ็บหรือมีอันเป็นไป ห่วงใยชีวิตของนางเอกเป็นสำคัญ ในขณะที่ประโยคหลังไม่ได้ให้ความสำคัญกับใครเลยนอกจากตัวพระเอกเอง เหตุที่ช่วยเหลือนี้ไม่ได้กลัวว่าใครจะเป็นอันตรายหรอก ก็แค่ไม่อยากจะสูญเสียคนสำคัญในชีวิตของตนเองไปก็เท่านั้น

“...ถ้าขาดคุณไปแล้ว ผมจะอยู่อย่างไร ?” เขามักจะถามเธออย่างนี้เสมอ

...


...

ประวัติศาสตร์ชีวิตคนเราเริ่มต้นจากการยังชีพแบบเลื่อนลอย ค่ำไหนนอนนั่น ไม่มีถิ่นที่อยู่ที่แน่นอน ท่องเที่ยวไปตามดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ เมื่อเห็นว่าดินแดนเดิมหมดประโยชน์แก่ตัวแล้วก็อพยพเคลื่อนย้ายไปสู่ดินแดนแห่งใหม่

แต่การเคลื่อนย้ายนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โลกนี้ไม่ได้ปลอดภัยอย่างที่คิด ตรงกันข้ามกลับเต็มไปด้วยภยันตรายนานัปการ ทั้งสภาพอากาศที่ไม่เป็นใจ และบรรดาสัตว์ร้ายที่เคยครองพื้นพิภพมาก่อนหน้าเรา ล้วนแต่คอยจ้องเขมือบเราอยู่ในทุกฝีก้าว

การจะเอาตัวรอดในวิถีชีวิตแบบนั้น คงไม่เปิดโอกาสให้คนคิดถึงเรื่องอื่นใดมากนัก นอกเสียจากปากท้องและชีวิตของตนเอง

วิถีชีวิตของคนในยุคดึกดำบรรพ์คงไม่ต่างกับสัตว์อื่นๆ ร่วมโลก; เรามีชีวิต รักษาชีวิตและสืบชีวิตเผ่าพันธุ์ของเราไปตามสัญชาตญาณ ต่อสู้ด้วยความก้าวร้าวและสัมพันธ์กันด้วยความต้องการทางเพศเหมือนอย่างที่ฟรอยด์บอกไว้

ต่อเมื่อรู้จักงานเกษตรกรรม เริ่มอยู่ติดที่ รวมกลุ่มกันเป็นครอบครัว ชุมชนและสังคม จึงเริ่มสร้างสรรค์วัฒนธรรมที่ซับซ้อน ถ่ายทอดผ่านภาษาให้ให้สมาชิกในสังคมได้เรียนรู้ร่วมกัน มีชีวิตที่เปี่ยมสุนทรียะมากกว่าแค่เต้นไปตามจังหวะสัญชาตญาณ

วัฒนธรรมไม่ได้ทำลายสัญชาตญาณ หากแต่เพียงบดบัง เก็บกดปิดกั้นสัญชาตญาณเอาไว้ ยามใดที่มีภัยมาประชิดตัว วัฒนธรรมจะคลายความเข้มขลังลงไป สัญชาตญาณที่ถูกกดทับจะปะทุกลับคืน; สัญชาตญาณแห่งชีวิต สัญชาตญาณแห่งการเอาตัวรอด สัญชาตญาณดิบปราศจากการปรุงแต่งที่ถือเอาตนเองเป็นศูนย์กลาง

โดยเฉพาะเมื่อขาดสติ ขาดความรู้ตัวทั่วพร้อม

...


...

ฟรอยด์อาจพูดถูกว่า คนเรามีชีวิตอยู่ด้วยพลังพื้นฐาน ๒ ประการนี้ แต่คงไม่ใช่พลังทั้งหมดที่พวกเรามี ยังมีพลังอีกหลายอย่างที่ซ่อนเร้นอยู่ในตัวของเรา รอให้เราได้รู้จัก ค้นพบ และเรียนรู้ขัดเกลาให้ปรากฏชัดเจนขึ้นมา

หากเรามีชีวิตอยู่ด้วยสัญชาตญาณเพียงเท่านั้น เรากับบรรพบุรุษในยุคดึกดำบรรพ์คงไม่มีสิ่งใดแตกต่างกัน และคงแยกไม่ออกจากสัตว์อื่นๆ ที่อยู่ร่วมโลกเดียวกันเรา แต่ในความเป็นจริงแล้วเรามีสิ่งที่แตกต่างไปมากมาย เรามีวัฒนธรรมที่ซับซ้อนละเมียดละไม ไม่ใช่แค่ความก้าวร้าวที่จะมีชีวิตอยู่เพื่อสืบพันธุ์

ในที่นี้ ไม่ได้หมายความให้เราละทิ้งสัญชาตญาณไปแต่อย่างใด

แต่เมื่อรู้แล้วว่าเรามีความดีงาม มีความอ่อนโยนอยู่แล้วในตัวของเรา เหตุใดเราจะปล่อยให้ตัวตนเคลื่อนไหวไปตามสัญชาตญาณที่แข็งกร้าวเพียงอย่างเดียว เหตุใดเราจะไม่ฝึกฝนจิตใจของเราให้มีคุณค่ามากกว่านั้น

เพียงแค่มองดูรอบกาย มองให้เห็นสิ่งอื่นนอกเหนือไปจากตัวตนของเรา รู้จักให้ความสำคัญกับคนอื่นบ้าง ก็เท่ากับว่าเราได้เปิดใจของเราให้กว้างขึ้น พร้อมจะเติมเต็มและเปิดเผยคุณค่าในตัวของเราเพื่อมอบให้กับคนอื่นๆ แล้ว

โลกปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมาก จิตใจคนเราย่อมสมควรจะพัฒนาให้ก้าวหน้าควบคู่กันไป แม้เราไม่อาจละทิ้งสัญชาตญาณที่อยู่ในตัวเราไปได้ แต่เราตกแต่งมันได้ เราปรับปรุงให้เหมาะสมัย ขัดเกลาให้งดงามขึ้นได้ไม่ยาก

ขอเพียงแค่เราสนใจและพยายาม

...


บริเวณเชิงสะพานอรุณอมรินทร์ ฝั่งสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า
ระดับน้ำกลางถนนท่วมสูงถึงระดับอก ต้องสัญจรทางเรือเท่านั้น


...

ภัยพิบัติคือปัจจัยกระตุ้นให้คนแสดงสัญชาตญาณดิบที่มีอยู่ในตัว การแย่งชิงเพื่อความอยู่รอดและสืบพันธุ์จึงเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ แต่ในอีกแง่หนึ่ง ภัยพิบัติก็เปิดโอกาสให้เราได้มองเห็นความโหดร้ายของสัญชาตญาณดิบ และย้ำเตือนให้สังคมได้กลับมาแก้ไขปัญหาด้วยวิถีทางที่เหมาะสม โดยเริ่มต้นจากตัวของพวกเราทุกคนนี้เอง

เรียนรู้จากความเจ็บช้ำ นำมาเป็นบทเรียนเพื่อปรับเปลี่ยนและป้องกัน คือจุดมุ่งหมายสำคัญที่แท้จริงของชีวิต

...


...

ขอบคุณภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

...

เพียงถ้อยคำธรรมดา ที่กลั่นกรองออกมาจากหัวใจ
ขอบคุณสำหรับทุก comment ครับ