ผมเพิ่งจะเปิดบล็อกใหม่ ชื่อ Anatomy for Siriraj Medical Students สำหรับรวบรวมสรุป Anatomy ที่ผมใช้ทบทวนให้กับน้องๆ นักศึกษาแพทย์ เก็บไว้ให้เป็นหมวดหมู่ หลังจากที่โพสต์ลงใน facebook เรื่อยมาตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม
แม้โดยอาชีพแล้วผมจะทำงานในสายวิชาการ แต่การเขียนงานที่เป็นวิชาการล้วนๆ ยังคงเป็นเรื่องที่ท้าทายผมเสมอมา ยิ่งเมื่อต้องเป็นสะพานเชื่อมระหว่างเนื้อหาวิชาการที่หนักอึ้งกับการเรียนรู้ของเด็กวัยรุ่นตอนปลายที่เพิ่งจะผ่านชั้นมัธยมปลายมาไม่กี่ปี ความท้าทายก็ยิ่งเพิ่มดีกรีมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
เด็กก็คือเด็ก, เราทุกคนเข้าใจความรู้สึกนี้ดี, แม้จะผ่านวัยรุ่นมาจนโตพอจะรับผิดชอบตัวเองได้บ้าง แต่การต้องพบเจออะไรที่หนักหนาเกินไปอย่างฉับพลัน ก็ใช่ว่าทุกคนจะรับได้ทันเสมอไป ยังมีอะไรอีกมากมายที่พวกเขาต้องค่อยๆ ปรับตัวและเรียนรู้กันไป
จริงอยู่ว่า อุปสรรคคือเครื่องมือฝึกฝนให้พวกเขา – และพวกเรา – แข็งแกร่งมากขึ้น และการเอาชนะอุปสรรคได้ก็หมายความว่าชีวิตก้าวหน้าไปอีกขั้น แต่เพียงแค่การเอาชนะอุปสรรคได้นั้นยังไม่เพียงพอ ยังต้องมีมุมมองที่ดีต่ออุปสรรคนั้นด้วย จึงจะเอาชนะมันได้อย่างสมบูรณ์
เมื่อผมคือคนกลาง มีอะไรที่ผมพอช่วยเหลือได้บ้างก็ช่วยเหลือกันไป การช่วยเหลือนี้ไม่ใช่ว่าจะไปทำให้อุปสรรคมีความท้าทายน้อยลง ถ้าทำอย่างนั้นเด็กๆ คงไม่ได้พัฒนาตัวเอง ซ้ำร้ายยังเป็นการดูถูกพวกเขาจนเกินไป หน้าที่ของผมเพียงแต่ช่วยให้พวกเขามีมุมมองที่ดีต่ออุปสรรคและกล้าเผชิญมันด้วยความสามารถทั้งหมดที่เขามี
ให้พวกเขารู้สึกว่า การต่อสู้นั้นเกิดจากเสียงเรียกร้องภายในใจของพวกเขาเอง ไม่ใช่ว่าใครมาบังคับกะเกณฑ์ให้พวกเขาทำ
----------
ต้นฉบับบทความเรื่องนี้ เขียนด้วยดินสอบนกระดาษ A5
ผมมีโน้ตบุ๊คเป็นของตัวเองแล้ว แต่บ่อยครั้งที่ผมร่างต้นฉบับด้วยวิธีง่ายๆ
มันไม่ได้สื่ออะไรมากไปกว่า "ความพอใจ" ของผมล้วนๆ
----------
คงไม่ใช่เฉพาะเด็กๆ หรอกครับ ผู้ใหญ่เราก็เหมือนกัน
ผมเชื่อว่า การทำตามเสียงหัวใจเรียกร้องเป็นสิ่งสำคัญ ตราบเท่าที่มันจะทำให้เรามีความสุขความพอใจในปัจจุบัน และไม่ทำร้ายอนาคตของตัวเราเอง
การอยู่กับเด็กๆ สอนให้ผมตระหนักว่า หลายครั้งที่ผมเลือกทำตามใจตนเองเหมือนอย่างเด็กๆ เพียงเพราะใจอยากจะทำ มันท้าทาย มันน่าสนุก มันน่าสนใจ – แล้วก็ลงมือทำ มีทั้งที่ทำสำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง หลายอย่างก็ยังไม่ถึงจุดสิ้นสุดหรือไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อไร แต่ผมไม่ได้คาดหวังความสำเร็จขนาดนั้น ผมไม่ได้หวังจะเป็นเลิศอะไรมากมาย ผมก็แค่อยากทำ
หลายคนคงคุ้นเคยกับการทำกิจกรรมบางอย่างที่อาจจะไม่ได้ช่วยให้เราประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ในชีวิต, ตามนิยามของความสำเร็จในสังคมสมัยใหม่, แต่เราทำแล้วเราพอใจ เรามีความสุข มันอาจจะทำให้เราเสียเวลาไปบ้าง แต่ก็เป็นประสบการณ์ที่ดี ให้เราเก็บมาคุยโวให้ใครต่อใครฟังได้อยู่เรื่อยๆ
บางที, ความสำเร็จยิ่งใหญ่ในชีวิต ที่มุ่งมองแต่ชื่อเสียง เงินตรา และอำนาจ ก็อาจไม่ใช่คำตอบสำหรับเราทุกคน มันอาจมีประโยชน์ในแง่ที่ช่วยให้ชีวิตของเราไม่แร้นแค้นจนเกินไป แต่การต่อสู้ดิ้นรนอยู่บนความทุกข์เพียงเพื่อให้ประสบความสำเร็จอย่างนั้นคงไม่เป็นสิ่งที่พึงปรารถนา และเมื่อถึงจุดหนึ่ง มันอาจจะมีคุณค่าน้อยกว่าการทำตามสิ่งที่ใจเราเรียกร้องก็เป็นได้
ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างที่ใจเรียกร้องเป็นสิ่งที่ดีที่ถูกต้องไปทั้งหมด เราคงต้องคำนึงถึงจริยธรรมและบรรทัดฐานของสังคมไปพร้อมกัน ถ้าความพอใจนั้นเป็นประโยชน์แก่เราแต่กลับเป็นผลเสียต่อผู้อื่นแล้ว คงไม่ใช่สิ่งที่เราควรกระทำ และโทษของมันจะย้อนกลับมาบั่นทอนจิตใจของเราเอง แต่หากมันไม่ได้ทำร้ายใคร – ทั้งคนอื่นและตัวเรา – ก็ทำไปเถอะ
ปล่อยให้ใจได้ตามใจตัวเองบ้าง เราอาจจะมองเห็นโลกในมุมมองที่งดงามมากขึ้นก็เป็นได้
----------
----------
สังคมทุกวันนี้มีกฎเกณฑ์ข้อบังคับมากมาย หลายอย่างเป็นสำนึกร่วม เป็นวาทกรรมครอบงำความรู้สึกนึกคิดของเรา สังคมกำลังมีอิทธิพลเหนือใจเรามากขึ้นทุกที มากเสียจนเราหลงเชื่อว่า ความคาดหวังและความสำเร็จของสังคมมีค่ามากกว่าความสุขของใจเราเอง
ผมไม่ได้พยายามสร้างลัทธิปัจเจกชนนิยม (Individualism) ที่เรียกร้องให้ทุกคนทำตามใจตัวเองโดยไม่สนใจผลกระทบต่อคนรอบข้าง นั่นเป็นความเข้าใจผิดที่อันตรายอย่างยิ่ง ผมยังเชื่อว่าคนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและจะแยกจากกันไปไม่ได้ เพียงแต่ผมเห็นว่าเราควรย้อนกลับมาทบทวนความต้องการที่แท้จริงของเราเองบ้าง ดูแลหัวใจของเราเองบ้างก่อนจะสายเกินไป ก็เท่านั้นเอง
เวลาและแรงบีบคั้นจากสังคมทำให้เราเปลี่ยนแปลงไปได้มาก เราเชื่อมั่นว่าภาระงานและการทำตามความคาดหวังของสังคมจะช่วยให้เรามีความสุข แต่นั่นทำให้เราเดินบนทางที่สุดโต่งจนเกินไป ทุ่มเทมากจนเกินไป เราเผลอคิดไปว่าสังคมจะให้คำตอบกับเราทุกอย่าง แต่คำตอบสุดท้ายที่เราได้รับคือ “เราคิดผิด”
หลังจากบ้างานอยู่พักใหญ่, จนรุ่นน้องคนหนึ่งเตือนผมให้รู้สติ, ผมกลับมาถามตัวเองว่าผมกำลังทำอะไรอยู่ ผมได้คำตอบ ผมเริ่มจัดตารางชีวิตตัวเองใหม่ ผมลดภาระงานที่เกินความจำเป็นลงไป ผมสอนในเวลาที่พอเหมาะ ซึ่งทำให้ตัวผมและคนเรียนพอใจ ผมแบ่งเวลาทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ผมเคยทำและอยากทำ ซึ่งมันทำให้เวลาของผมมีคุณค่าเพิ่มขึ้นกว่าเดิมอีกมาก
ไม่ใช่ว่างานของผมไร้ความสุข ตรงกันข้าม, ผมรักงานสอนและพร้อมจะทำงานนี้เสมอ แต่ถ้ามันจะเป็นเพียงการโชว์ความสามารถเพื่อให้ได้ก้าวหน้าและโดดเด่น แต่กลับทำร้ายตัวผมเองและอาจทำร้ายคนอื่นไปโดยไม่รู้ตัว ผมจะทนทำต่อไปได้อย่างไร
----------
----------
นอกจากงานสอนแล้ว งานเขียน แต่งกลอน วาดภาพ ออกกำลังกาย ตลอดจนกิจกรรมเบ็ดเตล็ดอีกหลายอย่าง คือสิ่งที่หัวใจของผม – และของใครอีกหลายคน – เรียกร้อง ผมมีเวลาคลุกคลีอยู่กับมันมาเกือบตลอดชีวิตการเรียนในมหาวิทยาลัย แม้ว่างานส่วนใหญ่จะเป็นงานเบื้องหลัง ทำแล้วไม่โดดเด่น ไม่มีใครรู้จัก แต่คงไม่ใช่เรื่องสำคัญที่ผมจะต้องแคร์
ไม่ใช่ว่าทุกครั้งที่เราจะทำอะไรโดยคาดหวังถึงความโดดเด่น มีชื่อเสียง หรือเกิดผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่จนเกินตัว การคาดหวังมากเกินไปอย่างนั้นทำให้เราเป็นทุกข์ ทุกข์จากแรงกดดัน ทุกข์จากความล้มเหลว หรือแม้สำเร็จไม่ถึงเป้าหมายก็ยังเป็นทุกข์อีกเหมือนกัน
ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราทำในสิ่งที่เราอยากทำ มันอาจจะไม่ใช่เรื่องที่ยิ่งใหญ่ แต่เมื่อหัวใจของเราเรียกร้อง ไม่ต้องรอให้สำเร็จเป็นผลงานอัศจรรย์ใดๆ เลย เพียงแค่ลงมือทำก็มีความสุขแล้ว ยิ่งหากเป็นงานที่ “ใช่” จริงๆ ให้ทำไปอีกนานเพียงไรก็ไม่เบื่อ
นอกจากชื่อเสียง เงินตรา และอำนาจแล้ว ยังมีความสำเร็จอื่นๆ อีกมากมายที่เปิดโอกาสให้เราได้ไขว่คว้ามาไว้กับตัวโดยไม่เบียดเบียนใคร เพียงแต่อาจจะไม่ใช่ความสำเร็จกระแสหลักในสังคม เป็นเพียงความสุขๆ เล็กที่สัมผัสได้ในใจของเราเอง
อยู่ที่ว่า “เรา” พร้อมจะทำมันหรือยัง
----------
----------
"...แบ่งเวลาดูแลหัวใจบ้าง ถามตัวเองว่าแท้จริงแล้วเราต้องการอะไรกันแน่ ไม่ต้องถึงขั้นละทิ้งงานทั้งหมดของเราหรอก แค่พักพอให้หัวใจได้ผ่อนคลายลมหายใจบ้าง เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว..."
----------
เพียงถ้อยคำธรรมดา ที่กลั่นกรองออกมาจากหัวใจ
ขอบคุณสำหรับทุก comment ครับ
No comments:
Post a Comment