Pages

Monday, December 12, 2011

๑๔๒. โลกคู่ขนาน




ระดับน้ำในกรุงเทพฯ ลดลงไปมากแล้ว พร้อมๆ กับลมหนาวที่เริ่มพัดผ่านเข้ามา แม่น้ำเจ้าพระยาที่เคยโกรธเกรี้ยวต่อสรรพสิ่งก็กลับสงบนิ่งลงไป แล้วลอยไหลอย่างเอื่อยช้างดงาม ราวกับไม่เคยมีเรื่องราวร้ายแรงใดๆ เกิดขึ้นมาก่อน

มหาอุทกภัยในกรุงเทพฯ เพิ่งจะผ่านพ้นไป หลายพื้นที่กลับคืนสู่สภาวะปกติแล้ว แต่ใช่ว่าสายน้ำจะเพียงแค่พัดผ่านมาแล้วไหลผ่านเลยไปเพียงเท่านั้น มหาอุทกภัยคราวนี้ได้มอบบทเรียนสำคัญให้เราได้เรียนรู้ ทบทวน และทำความเข้าใจไปอีกนาน

บทเรียนที่ไม่ใช่เพียงแค่การแก้ไขปัญหาหรือวางมาตรการป้องกันการเกิดน้ำท่วมซ้ำ หากแต่เป็นบทเรียนที่ก้าวพ้นปัญหาทางกายภาพทั่วไป เป็นบทเรียนที่ต้องอาศัยความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน เพื่อจะนำพาทุกๆ คนให้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์ร้ายแรงครั้งนี้ไปได้ด้วยดี

ถ้าเรื่องที่เราจะคุยกันในคราวนี้หมายถึงการแก้ปัญหาน้ำท่วม ที่มุ่งมองแต่เฉพาะปัญหาทางกายภาพเหมือนอย่างที่นักวิชาการทั้งหลายพูดคุยกันมามากแล้ว ก็คงจะช้าเกินไปที่จะพูดถึงมันในวันที่น้ำแห้ง แต่ถ้าหากว่าเรื่องมันไม่ใช่แค่นี้ เราคงมีอะไรให้พูดคุยกันอีกยาว และพูดคุยกันได้นานไม่รู้เบื่อ

พูดคุยในเรื่องที่ไม่ใช่วิชาการบ้าง ก็ดูจะมีอะไรที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อยทีเดียว

----------


----------

ในช่วง ๕ – ๖ ปีทีผ่านมา สังคมรอบตัวเราเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากทีเดียว เครือข่ายบนโลกออนไลน์ก้าวไกลและเข้าถึงผู้คนในวงกว้างกว่าที่เคยเป็นมา ทั้งยังมีแนวโน้มว่าจะมากขึ้นอีกเป็นทวีคูณ สิ่งนี้เป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้โลกทั้งโลกเชื่อมโยงถึงกันได้ ในขณะเดียวกันก็ทำให้โลกทั้งโลกแตกหักกันได้ง่ายๆ เช่นกัน

จำนวนคนในสังคมออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ความเห็นที่แตกต่างกันย่อมเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว จากเดิมที่เคยเก็บเอาไว้ในใจ หรืออาจจะไม่ได้ใส่ใจกับมันจริงจัง แต่เมื่อโลกออนไลน์มีเสรีภาพในการแสดงความเห็นกันอย่างเต็มที่ ขาดการประนีประนอม เรื่องที่ไม่เป็นเรื่องจึงกลายเป็นประเด็นถกเถียงกันจนบานปลายใหญ่โต

ไม่ใช่ว่าเสรีภาพในโลกออนไลน์เป็นสิ่งที่ผิด, ตรงกันข้าม เสรีภาพเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตยเลยด้วยซ้ำ แต่ด้วยเสรีภาพที่ตนมี ผู้คนพึงเข้าใจบทบาทและรู้จักรับผิดชอบต่อเสรีภาพของตนไปพร้อมกัน

เสรีภาพ หมายถึง ความสามารถที่จะกระทำการใดก็ได้ภายใต้กฎหมายและศีลธรรม โดยไม่ละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น; ปัญหาอยู่ตรงที่คนทั่วไปมักให้ความสำคัญกับนิยามในส่วนต้น แต่ไม่สนใจหรือจงใจละเลยนิยามในส่วนปลาย เสรีภาพในความหมายของหลายๆ คนจึงกลายเป็นการทำตามใจตนเองโดยปราศจากข้อผูกมัด และจะเป็นเรื่องที่ยอมความกันไม่ได้ทีเดียวหากใครมีความเห็นขัดขวางการกระทำนั้นๆ

เพราะยึดถือ “เสรีภาพ” ตามนิยามอย่างหลังนี้เอง เราจึงพบเห็นข้อความของผู้คนในสังคมออนไลน์ในแบบที่เราไม่เคยคาดคิดว่าจะได้เจอ เป็นข้อความที่ยึดถือตาม “หลักกู” มากกว่า “หลักการ” เพราะ “กูมีสิทธิ มีเสรีภาพ” และ “บ้านเมืองนี้เป็นประชาธิปไตย” แต่ไม่เคยสนใจว่าศีลธรรมและกฎหมายบ้านเมืองก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน

แต่จะทำอย่างไรได้ ในเมื่อความเห็นของคนส่วนใหญ่สามารถเปลี่ยนแปลงกฎหมายได้ตามใจต้องการ

----------



----------

โลกออนไลน์แตกต่างจากโลกแห่งความเป็นจริง หลายคนมีบุคลิกอย่างหนึ่งในโลกแห่งความเป็นจริง แต่เมื่อเข้าสู่โลกออนไลน์กลับมีบุคลิกต่างกันแบบพลิกฝ่ามือ ราวกับเป็นคนละคน หรือเป็นคนที่อยู่คนละโลกกัน

อาจเป็นไปได้ว่ามันไม่เคยเป็นโลกเดียวกันมาตั้งแต่ต้น

อิสรเสรีในโลกออนไลน์เปิดโอกาสให้ใครต่อใครแสดงความคิดเห็นของตนเองได้ไม่จำกัด และดูเหมือนว่าไม่มีใครคาดหวังที่จะรับผิดชอบต่อความเห็นนั้นๆ เมื่อโพสต์จบแล้วก็จบกันไป  เว้นเสียแต่ความเห็นนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ตน หรือจะเก็บความเห็นของคนอื่นไว้ทำร้ายกัน

สงครามข่าวสารบนโลกออนไลน์ในช่วงมหาอุทกภัยที่ผ่านมา คือตัวอย่างที่ยืนยันความจริงข้อนี้ได้ดี ทันทีที่เกิดความปั่นป่วนขึ้นในสังคม คนกลุ่มหนึ่งได้ฉวยโอกาสเวลาที่ผู้คนกำลังสับสน เที่ยวสร้างความร้าวฉานขึ้นด้วยความเห็นที่ “ไร้ที่มา” แต่ “มีที่ไป” ที่ชัดเจน นั่นคือ โจมตีฝ่ายที่มีความเห็น “คัดค้าน”  และเลยเถิดไปถึงผู้ที่มีความเห็น “ต่าง” ไปจากตน

โลกออนไลน์ที่เชื่อกันว่ามีเสรีภาพอย่างไร้ขีดจำกัด จึงกลับขีดกรอบจำกัดตัวของมันเอง

หลายๆ ความเห็นที่เราอ่านแล้วถูกใจ ก็เพียงแต่กด “like” และขอ “share” กันเรื่อยไป โดยมิทันได้ฉุกคิดเลยว่าความเห็นนั้นเชื่อถือได้หรือไม่ มีข้อเท็จจริงมากน้อยเพียงไร ขอเพียงแต่ถูกใจก็ถึงไหนถึงกัน

หารู้ไม่ว่า ที่มาของความเห็นนั้นอาจเป็นการตัดต่อ ใส่ร้าย จงใจกลั่นแกล้งกันก็เป็นได้

----------




----------

การติดต่อกับโลกออนไลน์กระทำผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ สัมผัสนิ้วผ่านคีย์บอร์ด จึงเป็นเรื่องง่ายและคล้ายจะเป็นเรื่องส่วนตัวของเรา ซึ่งก็คงเป็นเช่นนั้นหากเครือข่ายของเราวนเวียนอยู่ภายในห้องส่วนตัว แต่ความจริงกลับตรงกันข้าม ตัวอักษรของเราก้าวพ้นกำแพงห้องไปปรากฏต่อสายตาผู้คนอีกนับร้อยนับพัน ไกลเกินกว่าที่เราต้องการ

ความน่ากลัวของโลกออนไลน์อยู่ตรงนี้เอง ความเป็นสาธารณะของมันถูกเคลือบฉาบไว้ด้วยบรรยากาศที่เป็นส่วนตัว ด้วยความรู้สึกเฉพาะของเราจริงๆ ทำให้เรากล้าที่จะเปิดเผยความคิดเห็นต่างๆ ทั้งที่เหมาะสมและไม่เหมาะสมออกมาอย่างไม่กระดากอาย ซึ่งหลายครั้งก็ขาดความยับยั้งชั่งใจ มารู้ตัวว่าพลาดก็เมื่อสายไปเสียแล้ว

เพราะเหตุนี้ ผลกระทบจากมหาอุทกภัยครั้งที่ผ่านมาจึงไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะความเสื่อมโทรมทางกายภาพ หรือเพียงแค่ความสูญเสียในทรัพย์สินของบุคคลใด แต่กินวงกว้างถึงความบอบช้ำในใจของใครอีกหลายคนผ่านโลกส่วนตัวจำลอง โลกส่วนตัวที่เปิดเผยและเชื่อมโยงการรับรู้ของทุกคนเข้าไว้ด้วยกัน

หากเราไม่ตระหนักถึงความเป็นสาธารณะของโลกออนไลน์ ไม่เข้าใจนิยามความหมายของเสรีภาพโดยแท้จริง สักแต่แสดงความเห็นกันไปเรื่อยตามความลุ่มหลงของตนเอง ถือเอา “หลักกู” มาก่อน “หลักการ” ตีขลุม “ประชาธิปไตย” ว่าหมายถึง “เสียงส่วนใหญ่” แต่เพียงเท่านั้นแล้ว สังคมของเราก็อยู่ไม่ไกลคำว่า “วิบัติ” เลย

อย่ากระนั้นเลย แม้แต่คณิตศาสตร์ซึ่งมีหลักเกณฑ์แน่นอนชัดเจน ยังมีผู้เสนอให้เปลี่ยนคำตอบ “ตามความเห็นของคนส่วนใหญ่” มาแล้ว

แล้วเราจะอยู่ในสังคมอย่างนั้นได้นานสักเพียงไรกัน

----------



---------

น้ำที่ท่วมก็ลดลงไปแล้ว สิ่งก่อสร้างที่เสื่อมโทรมก็ทยอยได้รับการบูรณะให้กลับคืนดีดังเดิม แล้วเหตุไรกันเราจึงปล่อยใจของเราให้ลอยตามน้ำไป ไม่บูรณะจิตใจของเราให้กลับมาดีดังเดิมบ้าง 

"...แทนที่จะปล่อยให้ทุกอย่างล่องลอยร่วงโรยไปตามยถากรรม สู้เราใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์จะดีกว่าไหม; เก็บเอาข้อมูลข่าวสารที่มีอยู่หลากหลายนั้นมาพิจารณาเฟ้นหาข้อเท็จจริง เลือกสรรข้อมูลที่ถูกต้องเหมาะสมร่วมกัน แล้วช่วยกันเผยแพร่ในสิ่งที่ถูกที่ควร อาจจะยากอยู่บ้างในเบื้องต้น แต่ย่อมคุ้มค่าที่จะลงมือทำ..."

ด้วยความร่วมมือร่วมใจเช่นนี้เอง ในที่สุดแล้วเราจะผ่านพ้นมหาอุทกภัยครั้งนี้ไปได้อย่างแท้จริง

----------


----------

เพียงถ้อยคำธรรมดา ที่กลั่นกรองออกมาจากหัวใจ
ขอบคุณสำหรับทุก comment ครับ


No comments:

Post a Comment