Pages

Sunday, October 16, 2011

๑๓๕. ในงานสัปดาห์หนังสือ



ผมชอบเดินเล่นในงานสัปดาห์หนังสือ ตั้งแต่เมื่อครั้งยังจัดอยู่ที่คุรุสภา กระทั่งย้ายมาที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และปักหลักอยู่ที่นี่มากว่า ๑๐ ปี

ผมเป็นคนไม่ร่ำรวย จึงไม่ค่อยมีหนังสือติดมือกลับบ้านมากนัก เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการเดิน - แวะอ่านตามบู๊ธไปเรื่อยเปื่อย รู้สึกคล้ายเดินอยู่ในห้องสมุดขนาดใหญ่ มีหนังสือมากมายให้เลือกอ่าน ต่างแต่ในงานนี้มีหนังสือใหม่ๆ มากกว่า และไม่มีที่ให้ฟุบหลับเหมือนอย่างในห้องสมุดทั่วไป

เวลายืนอ่านนานๆ ก็เกรงใจเจ้าของบู๊ธอยู่เหมือนกัน แต่ครั้นจะหยิบเงินซื้อ หนังสือก็แพงไปหน่อย แม้ว่าจะลดราคาแล้วก็ยังสู้ราคาไม่ไหว จึงต้องรีบอ่านรีบจำกันตรงนั้น ตื่นเต้นดี เว้นแต่เมื่อเจอหนังสือที่หลงใหลกันจริงๆ ค่อยซื้อกลับมา หรือไม่ก็หมายตาเอาไว้แล้วเก็บเงินเพื่อซื้อในงานครั้งต่อไป

จะว่าอ่านแล้วไม่เคยซื้อก็คงไม่ใช่ แต่จะซื้อเมื่อเห็นว่าจำเป็นหรือน่าสนใจจริงๆ ผมมีหนังสืออยู่หลายเล่มเหมือนกัน แต่อาจจะน้อยเมื่อเทียบกับคนอื่นๆ

มีคนบอกว่า "เวลาอ่านหนังสือด้วยความเร่งรีบ มักจะจดจำเนื้อหาได้ดีกว่าอ่านไปเรื่อยเปื่อย" - คงจะจริงอย่างนั้น - การอ่านหนังสือในเวลาจำกัด เรามักจะอ่านอย่างมีจุดมุ่งหมาย หรือเลือกอ่านเรื่องที่เราสนใจมากที่สุดก่อน ก็เลยจำได้ดี - ผมก็เป็นคนหนึ่งที่เป็นแบบนี้

พอรู้ว่าต้องคืน ก็ต้องรีบอ่านรีบจำ ไม่เหมือนกับหนังสือหรือตำราเรียนที่เรามักจะอุ่นใจที่มีมันเก็บไว้ แต่ไม่เคยหยิบมาอ่านสักที

...


มุมรกมุมหนึ่งในห้องของผมเอง

...

เมื่อก่อนนี้ ร้านหนังสือในงานยังมีอยู่ไม่มาก เดินไปเดินมาไม่เท่าไหร่ก็ครบรอบแล้ว เมื่อย้ายมาจัดที่ศูนย์ประชุมฯ มีพื้นที่มากขึ้น ร้านหนึ่งๆ ก็กินพื้นที่หลายบู๊ธ ไม่ได้แออัดกันอยู่ในบล็อกเล็กๆ และไม่ต้องต่อเต๊นท์ออกไปนอกตัวอาคาร

พอเวลาผ่านไป ธุรกิจหนังสือเริ่มเฟื่องฟู ร้านหนังสือจำนวนมากผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด พื้นที่บู๊ธก็ย่อเล็กลงไปทุกที จนถึงที่สุดแล้วก็ต้องต่อเต๊นท์ออกไปนอกตัวอาคาร เพื่อรองรับปริมาณร้านและหนังสือที่เพิ่มขึ้นมาอีกหลายเท่าตัว

ปริมาณหนังสือแปรผันตรงกับจำนวนผู้ซื้อ ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ยิ่งถ้าเป็นวันหยุดก็ไม่ต่างจากปลากระป๋องเลย หลายคนแบกเป้ลากกระเป๋าใส่หนังสือที่ซื้อแล้วหลายใบหลายคัน ลากล้อทับเท้ากันเป็นเรื่องธรรมดา

เคยมีคนถามผมว่า "ไปงานหนังสือแล้วได้หนังสือกลับมากี่เล่ม..." ผมตอบไปว่าได้มาแค่ ๒ - ๓ เล่มเอง พอได้ยินคำตอบอย่างนั้น คนถามก็ตอบกลับมาเบาๆ ว่า "...ไม่คุ้มเลย"

ผมเห็นคนอื่นๆ ซื้อหนังสือกันทีเป็นสิบๆ เล่ม หลายคนขนกลับไม่ไหวจนต้องใช้บริการไปรษณีย์ แต่ผมมีงบอยู่น้อยเลยซื้ออย่างนั้นไม่ได้ หรือถึงจะซื้อได้ก็คงไม่มีเวลาอ่านได้ขนาดนั้น ยังนึกฉงนอยู่ว่าเขาอ่านกันหมดได้อย่างไร

...


...

ทุกๆ ปีมีหนังสือออกใหม่หลายเล่ม หลายคนฟังโฆษณาแล้วก็ซื้อไปตามๆ กัน โดยที่ยังไม่ทันได้คิดเลยว่า หนังสือเล่มนั้นถูกจริตของตนเองหรือเปล่า ซื้อมาแล้วจะได้อ่านหรือไม่ หรือจะกลายเป็นของตกแต่งบ้านไปแทน

ธุรกิจหนังสือมักสะท้อนความ "อยากอ่าน" มากกว่า "การอ่าน" ของคนซื้อ จึงไม่แปลกหากจะมีหนังสือหลายเล่มที่โฆษณากันเอิกเกริก จับกระแสความนิยมแล้วขายดีเป็นเทน้ำเทท่า แต่เนื้อหาภายในกลับทำได้ไม่เท่ากับที่คาดหวัง นั่นเพราะเขาต้องการให้คน "ซื้อ" แต่ไม่คาดหวังให้คน "อ่าน"

ไม่ใช่ว่าหนังสือเหล่านั้นจะไม่ดีเอาเสียเลย เล่มที่ดียังมีอยู่มาก แต่เมื่อเน้นโฆษณาให้คนซื้อมากกว่าอ่าน คุณค่าที่มีอยู่จึงเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

หนังสือทุกเล่มมีคุณค่าในตัวเอง แต่หากคุณค่าของมันเป็นเพียงแค่ของตกแต่งบ้าน หรือแค่ช่วยให้ชั้นหนังสือดูแน่นมากขึ้น ย่อมเท่ากับว่าเรามองข้ามคุณค่าที่แท้จริงของหนังสือเล่มนั้นไปอย่างน่าเสียดาย

เมื่อซื้อหนังสือมาแล้ว เราน่าจะให้โอกาสหนังสือได้ทำหน้าที่ของมันอย่างสมบูรณ์ ช่วยสร้างความเพลิดเพลินและเพิ่มพูนสติปัญญาให้กับเรา มากกว่าแค่ช่วยให้บ้านของเราสวยงาม

...


...

การมีหนังสือเยอะอาจช่วยให้คนอื่นมองว่าเราเป็นคนมีความรู้ แต่ถ้าไม่เคยหยิบมาอ่านแล้ว ไม่ว่าจะมีหนังสืออยู่มากหรือน้อยก็คงมีค่าไม่ต่างกัน จำนวนหนังสือที่เรา "มี" ไม่มีความสำคัญอะไรเลย จำนวนและคุณค่าของหนังสือที่เรา "อ่าน" ต่างหากที่สำคัญ

เพราะเหตุนี้ คุณค่าของงานสัปดาห์หนังสือ จึงไม่ได้อยู่ที่ว่าเรา "ซื้อ" หนังสือมากี่เล่ม แต่อยู่ที่ว่าเรา "อ่าน" หนังสือได้กี่เล่มมากกว่า

...


...

ขอบคุณภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

...

เพียงถ้อยคำธรรมดา ที่กลั่นกรองออกมาจากหัวใจ
ขอบคุณสำหรับทุก comment ครับ


No comments:

Post a Comment