Pages

Monday, October 31, 2011

๑๓๗. วันนี้เป็นวัน "ฮาโลวีน"



...

วันนี้เป็นวัน "ฮาโลวีน"

ผมเพิ่งจะนึกได้เมื่อล่วงเลยเวลาเที่ยงคืนมาแล้ว หลังจากที่เห็นรุ่นน้องและใครอีกหลายคนตั้งสถานะในเครือข่ายสังคมว่า “Trick or Treat” – วลีที่ชาวตะวันตกคุ้นเคยกันดีในเทศกาลวันปลดปล่อยวิญญาณ และคงเป็นที่คุ้นเคยของคนไทยส่วนหนึ่งด้วยเช่นกัน

ในคืนวันฮาโลวีน เด็กๆ ชาวตะวันตกจะชักชวนกันแต่งกายแฟนซี เป็นโครงกระดูกเดินได้บ้าง เป็นภูตผีปีศาจบ้าง เที่ยวหลอกหลอนไปตามบ้านเรือนในละแวกใกล้เคียง เมื่อเจ้าของบ้านเปิดประตูรับ เด็กๆ จะถามว่า “Trick or Treat – จะให้หลอกหรือเลี้ยง”

เมื่อเจอเด็กผีหลอก (trick) เข้าให้อย่างนี้ เจ้าของบ้านก็มักจะยอมแพ้ ยอมเลี้ยง (treat) ขนมหรือท็อฟฟี่แก่เด็กๆ ไปตามระเบียบ

ผมยอมรับว่าไม่เคยรู้จักวลี “Trick or Treat” มาก่อนเลย จนกระทั่งอ่านพบในหนังสือไทยศึกษา บทที่ว่าด้วยประเพณีพิธีกรรมไทยที่เกี่ยวเนื่องกับคริสตศาสนา ซึ่งนั่นก็เมื่อ ๒ ปีที่ผ่านมานี้เอง

พอรู้ว่าเด็กๆ ใช้วลีนี้กันเป็นธรรมดา ผมคงต้องกลับมาพิจารณาตนเองเสียแล้ว

...


...

วันฮาโลวีน (Halloween) หรือวันปลดปล่อยวิญญาณ แต่ดั้งเดิมไม่ใช่พิธีกรรมของชาวคริสต์ บางตำนานกล่าวว่าเป็นวันฉลองปีใหม่ของชาวเซลต์ (Celt) หรือเป็นงานฉลองเทพเจ้าแห่งความตายชื่อ ชาเมน (Samhain) ผู้ปลดปล่อยวิญญาณให้กลับคืนสู่บ้านเกิด โดยอาศัยจังหวะรอยต่อระหว่างวันที่ ๓๑ ตุลาคม กับ ๑ พฤศจิกายน ซึ่งเชื่อกันว่าเส้นกั้นเขตแดนระหว่างคนเป็นกับคนตายเปราะบางที่สุด

วิญญาณส่วนใหญ่คงอยากกลับมาเยี่ยมบ้าน เยี่ยมครอบครัวเดิมของตน แต่มีวิญญาณบางตนที่ไม่ทำอย่างนั้น กลับคอยล่องลอยหลอกหลอน เข้าสิงร่างผู้คนเพื่อหวังจะฟื้นคืนชีพ

บรรยากาศของวันฮาโลวีนจึงไม่ใช่วันพบญาติ แต่กลายเป็นวันอันตรายที่ทุกคนต่างพากันหวาดกลัว และทำทุกวิถีทางที่จะป้องกันไม่ให้วิญญาณร้ายเข้าสิงร่างของตน ส่วนใครที่ต้องสงสัยว่าถูกวิญญาณสิงเข้าให้แล้ว จะถูกพิพากษาและเผาทั้งเป็น

ช่วงเปลี่ยนผ่านจากพิธีกรรมนอกรีตสู่พิธีกรรมทางคริสตศาสนา คงจะอยู่ในสมัยของพระสันตะปาปากรีกอรีที่ ๔ (Pope Gregory IV) เมื่อพระองค์ทรงประกาศให้วันที่ ๑ พฤศจิกายน เป็นวันฉลองนักบุญ (All Saints’ Day หรือ All Hallows’ Day) แต่พิธีกรรมในคืนวันที่ ๓๑ ตุลาคมก็ยังคงสืบเนื่องต่อมา เพียงแต่ปรับปรุงรายละเอียดเพื่อให้สามารถเข้ารีตได้โดยสนิทใจ

...


...

โดยเนื้อความ พิธีกรรมในวันฮาโลวีนจัดขึ้นเพื่อป้องกันวิญญาณร้ายไม่ให้ทำร้ายผู้คน แต่โดยนัยยะแล้วพิธีกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลเก็บเกี่ยว (Harvest) อาศัยความเชื่อเรื่องวิญญาณร้ายเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงสิ่งที่จะมาทำลายพืชผลและสัตว์เลี้ยง การกำจัดวิญญาณร้ายจึงไม่ใช่เพียงเพื่อความสงบสุขของผู้คนเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารไปพร้อมกัน

คนที่ต้องสงสัยว่าถูกวิญญาณร้ายเข้าสิง มักจะเป็นคนที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนไปจากมาตรฐานของสังคม ทำนองเดียวกับความเชื่อในเรื่อง “ปอบ” ของชาวไท-ลาว ซึ่งต้องถูกตัดสินโทษตามกฏเกณฑ์อันเป็นที่ยอมรับร่วมกัน

กล่าวให้ชัดเจนมากขึ้น วันฮาโลวีนคือวันขับไล่ความอัปมงคลต่างๆ ทั้งที่เกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สินของผู้คน ซึ่งอาจส่งผลต่อวิถีชีวิต เพื่อธำรงรักษาความเป็นปกติสุขของชุมชน

พิธีกรรมนี้ไม่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มารองรับ แต่มีผลต่อความเชื่อมั่นของคนในชุมชน ตามความหมายของพิธีกรรมที่เน้นคุณค่าทางจิตใจ ถึงแม้ไม่อาจพิสูจน์ให้เห็นผ่านการทดลอง แต่เมื่อใจเชื่อมั่นแล้ว ทุกอย่างย่อมเป็นไปตามที่ใจคิด

...


...

ผ่านเวลามานานนับร้อยนับพันปี พิธีกรรมในคืนวันฮาโลวีนย่อมเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามกาลเวลา แต่นั่นเป็นเพียงเปลือกหุ้มภายนอกเท่านั้น สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนเลยคือเนื้อแท้ คือนัยยะที่แฝงอยู่ในตัวพิธีกรรมนั้น ที่ยังคงรอให้เราได้เรียนรู้และเข้าใจ แล้วนำมาปรับใช้ให้เข้ากับสถานการณ์

สิ่งต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ทั้งความขัดแย้ง แตกแยก และสิ่งต่างๆ ที่ไม่เป็นไปตามความต้องการ ไม่ต่างอะไรกับวิญญาณร้ายที่คอยรบกวนชีวิตเรา คอยจดจ้องหาโอกาสเข้าสิงร่างของเราเมื่อเราอ่อนแอ นำพาชีวิตเราให้พบเจอวิบัติภัยนานาประการ

แม้ไม่อาจหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับเหล่าวิญญาณร้าย แต่สำคัญที่เราตระหนักรู้ถึงความชั่วร้ายนั้นแล้วหาทางป้องกัน ด้วยการฝึกฝนจิตใจให้หนักแน่นเข้มแข็ง มีสติพร้อมเผชิญสิ่งต่างๆ อยู่ตลอดเวลา ไม่ปล่อยให้ใจหวั่นไหว ไม่ปล่อยให้วิญญาณร้ายแฝงเร้นกายเข้ามาในตัวของเราได้

ท่ามกลางสถานการณ์ที่สับสนและเปราะบาง สติและวิจารณญาณอันสมบูรณ์เท่านั้นที่จะพาให้เรารอดพ้นจากภัยพิบัติ รอดพ้นจากเหล่าวิญญาณร้าย สองสิ่งนี้มีอยู่แล้วในตัวของทุกคน ขอเพียงตระหนักรู้และนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์

...


...

ใจคือตัวกำหนดความเป็นไปของสิ่งรอบกาย เราไม่ได้รับรู้สิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง แต่รับรู้ไปตามที่เราอยากจะให้เป็น เมื่อเราฝึกใจของเราให้มีความเชื่อมั่นในทางที่ดีตั้งแต่ต้น ทุกสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตก็ย่อมง่ายอย่างที่ใจคิด โดยไม่จำเป็นต้องพิสูจน์อะไรให้ลำบากเลย

ณ ตอนนี้ สูดหายใจลึกๆ แล้วบอกกับตัวเองว่า เมื่อผ่านพ้นคืนวันฮาโลวีนนี้ไปแล้ว เราจะร่วมกันป้องกันสิ่งชั่วร้าย ร่วมกันแก้ไขความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวเรา ครอบครัวของเรา ชุมชนและสังคมของเรา ให้ทุกอย่างกลับคืนสู่ปกติสุขในเร็ววัน

ทุกอย่างเริ่มต้นที่ “ใจ” ของเราเอง

...


ของขวัญจาก ผศ. อัมพาพร พรคุณธรรม
ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
มหาวิทยาลัยมหิดล

...

ขอบคุณภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

...

เพียงถ้อยคำธรรมดา ที่กลั่นกรองออกมาจากหัวใจ
ขอบคุณสำหรับทุก comment ครับ


Monday, October 24, 2011

๑๓๖. เราจะก้าวไปด้วยกัน



ชั่วเวลาเพียงไม่กี่วัน ปริมาณน้ำที่ไหลบ่าลงมาจากทางเหนือรวมตัวกับน้ำฝนที่ตกกระหน่ำซ้ำเติมอยู่ทุกวัน พร้อมใจกันหนุนให้ระดับน้ำในกรุงเทพฯ เพิ่มสูงขึ้นจนน่าตกใจ พื้นที่ส่วนหนึ่งจมอยู่ใต้บาดาล บางแห่งตกอยู่ในวงล้อม และอีกหลายแห่งที่เฝ้าคอยปาฏิหาริย์ เพราะระดับน้ำพร้อมจะเอ่อท้นแนวกระสอบทรายเข้ามาได้ทุกเมื่อ จนหลายครอบครัวต้องเร่งอพยพกันจ้าละหวั่น

ใช่ว่าคนกรุงเทพฯ จะไม่เคยรู้จักน้ำท่วม ตรงข้ามกลับคุ้นเคยกับมันดี แต่การที่ “มวลน้ำมหาศาล” เคลื่อนที่ลงมารวดเร็วเช่นนี้ ไม่ว่าจะคุ้นเคยสักเพียงไรก็คงเตรียมตัวตั้งรับกันไม่ทัน ยิ่งถ้าการส่งข่าวติดขัดสับสนด้วยแล้วก็เป็นอันจบ

เมื่อไม่ทันระวังตัว เตรียมตัวรับมือกับมวลน้ำครั้งนี้ไม่ทัน – ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม - ความสูญเสียเล็กน้อยที่เคยคาดการณ์เอาไว้ จึงกลับเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ

ข้อมูลข่าวสารและการเตรียมตัวถือเป็นสิ่งสำคัญ ไม่เฉพาะแต่กับเรื่องน้ำท่วมเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงภัยพิบัติอื่นๆ หรือแม้แต่ความเดือดร้อนภายในใจของเราเอง หากเราหมั่นติดตามข่าวสารอยู่เสมอ พินิจพิจารณาอย่างถี่ถ้วนและหาทางตั้งรับเอาไว้อย่างเหมาะสมแล้ว ผลจากภัยพิบัติเหล่านั้นย่อมบรรเทาเบาบางลงไปได้พอสมควร

แต่มีข้อแม้ว่า ข่าวสารนั้นต้องถูกต้อง และเราต้องมีสติอยู่กับตัวตลอดเวลา

...



ระดับในแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อท้นเข้ามาในรั้วโรงพยาบาลศิริราช
ในขณะที่นักเรียนแพทย์ และประชาชนผู้มีจิตอาสา
ช่วยกันต่อเติมแนวรั้วกั้นน้ำให้สูงขึ้น
 ภาพโดย Natpakorn Gik Pothong

...

ท่ามกลางความเห็นที่แตกต่าง ซึ่งกลายเป็นข้อขัดแย้งทางความคิดและการเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีคนจำนวนหนึ่งดึงเหตุอุทกภัยในครั้งนี้มาเป็นเครื่องมือ เร่งเร้าความขัดแย้งให้ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เพียงเพื่อหวังจะบรรลุความต้องการทางการเมืองของตน

ภาพความล้มเหลวในการทำงานของฝ่ายหนึ่งถูกส่งต่อพร้อมกับถ้อยคำรุนแรง ในขณะที่อีกฝ่ายก็โต้กลับด้วยความเกี้ยวกราดไม่แพ้กัน พื้นที่เครือข่ายสังคม (social network) ได้กลายสภาพเป็นสนามประลองความคิด หรือสนามวาทกรรม (discursive field) โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การช่วงชิงอำนาจนำ (hagemony) ทางการเมืองเหนือการรับรู้ของประชาชน

ตลอดระยะเวลาเกือบเดือนที่ผ่านมา เราจะเห็นการต่อสู้เหล่านี้กระจายอยู่ทั่วไป – ไม่นับปรากฏการณ์ปลาไหล – ผ่านการส่งต่ออย่างมีสติบ้าง ไร้สติบ้าง อ่านบ้าง ไม่อ่านบ้าง ตามมาด้วยวิวาทะอันเกรี้ยวกราดเผ็ดร้อน ซึ่งต่างฝ่ายต่างประโคมความผิดเข้าใส่กัน

ที่ร้ายกว่านั้น คือ จงใจใส่ความกันด้วยภาพและข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง

ไม่ใช่ว่าทุกฝ่ายที่ทำงานจะถูกต้องไปเสียหมด ความผิดพลาดย่อมเกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อรู้ว่าผิด มีคนแนะนำอย่างไรก็นำกลับไปพิจารณาปรับปรุงให้ดีขึ้น ทุกอย่างย่อมคลี่คลายไปในทางที่ดี แต่หากทำในทางกลับกัน หรือมัวแต่ให้ร้ายกันอยู่อย่างนี้ก็มีแต่จะพากันจมน้ำเท่านั้นเอง

...


นักเรียนแพทย์ศิริราช ร่วมกันบรรจุถุงหิน/ถุงปูน 
เพื่อนำไปสร้างแนวรั้วกั้นน้ำรอบโรงพยาบาลศิริราช
ภาพโดย Natpakorn Gik Pothong
(สารภาพว่าเมื่อเห็นภาพนี้ และได้อยู่ในบรรยากาศนี้ ผมน้ำตาซึมทุกครั้ง)

...

โลกและสังคมอาจเคลื่อนที่เร็วจนเกินไป จิตใจของคนถูกออกแบบมาให้เรียนรู้เรื่องราวรอบตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป เชื่องช้าแต่ซึมลึก ครั้นเมื่อสิ่งต่างๆ กลับเปลี่ยนแปลงไปเร็วไวเช่นนี้ จิตใจย่อมตามไม่ทัน จึงแสดงตนเหมือนคนที่เหนื่อยล้า และพร้อมจะทำทุกวิถีทางเพื่อจะวิ่งตามให้ทัน ไม่ว่าด้วยกลวิธีใดก็ตาม

อำนาจก็เช่นกัน เติบโตไปพร้อมกับสังคมที่เปลี่ยนแปลง ความหอมหวานของอำนาจทางการเมืองนั้นยั่วยวนใจเกินกว่าพันธะทางศีลธรรม คนกลุ่มหนึ่งจึงพร้อมจะทำทุกวิถีทาง ยอมสละทุกสิ่งทุกอย่าง ยอมแม้กระทั่งถูกกล่าวหาว่าเป็นคนเลว เพียงเพื่อจะกุมอำนาจทางการเมือง

ผมคงอ่อนด้อยต่อโลกใบนี้จนเกินไป จึงไม่เคยเข้าใจความปรารถนาเหล่านั้น บางทีพวกเขาอาจเห็นว่าเรายังเจ็บช้ำกันไม่พอ ยังไม่มีภูมิคุ้มกันที่ดี อยากจะฝึกฝนให้เราอดทนต่อการแบ่งแยกแบ่งสี มีขันติธรรมต่อความความผิดและความขัดแย้งในสังคมกระมัง

ภูมิคุ้มกันนั้นสำคัญเมื่อมีสิ่งชั่วร้าย อย่างในคนเราก็มีภูมิคุ้มกันเพื่อคอยทำลายเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย แต่นั่นเป็นเพราะการขยายพันธุ์ของเชื้อโรคอยู่เหนือการควบคุมของเรา เราจึงทำได้แค่เพียงตั้งรับ แต่กับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคมนั้นไม่เหมือนกัน สิ่งชั่วร้ายต่างๆ ล้วนแต่คนในสังคมเป็นผู้สร้าง ผู้ที่จะหยุดความชั่วร้ายได้ย่อมไม่ใช่ใครอื่น คือตัวคนในสังคมนั้นเอง

หากความชั่วร้ายยังคงอยู่ เราคงต้องยอมเจ็บช้ำมหาศาลเพียงเพื่อจะสร้างภูมิคุ้มกันอันน้อยนิด และอาจต้องคอยกระตุ้นซ้ำอยู่เรื่อยๆ เพื่อให้ภูมิคุ้มกันยังคงอยู่ แต่หากเรากำจัดเหตุแห่งความชั่วร้ายไปเสียได้ จะต้องกระตุ้นภูมิคุ้มกันไปด้วยเหตุใด

...


ประชาชนผู้มีจิตอาสา รวมตัวกัน ณ ลานพระรูปฯ โดยไม่แบ่งแยกแบ่งสี
เพื่อร่วมกันสร้างแนวรั้วกั้นน้ำรอบโรงพยาบาลศิริราช
ภาพโดย Pinit Asavanuchit

...

เพียงแค่น้ำท่วม คนไทยก็เจ็บช้ำมากพออยู่แล้ว อย่าได้ดึงเอาเหตุแห่งความทุกข์มาซ้ำเติมกันด้วยความขัดแย้งอีกเลย ขอให้ถือเอาความสูญเสียที่เกิดขึ้นนั้นแทนบทเรียนให้เรียนรู้ที่จะสมานสามัคคี ร่วมมือกันต่อสู้แก้ไขปัญหา น่าจะเกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ดีกว่าต่างฝ่ายต่างคอยจับผิดกัน แต่กลับไม่มีฝ่ายใดทำประโยชน์อะไรได้เลย

ความร่วมมือไม่ใช่ความพ่ายแพ้ ตรงกันข้ามกลับเป็นการเอาชนะความหวาดกลัวที่อยู่ภายในจิตใจของเราอย่างแท้จริง เปิดโอกาสให้เราได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน เข้าใจซึ่งกันและกัน ได้มองเห็นโลกที่กว้างใหญ่มากขึ้นกว่าเดิม

บางทีเราอาจจะพบว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้นแท้จริงแล้วมีอะไรเลย เป็นเพียงแค่มายาคติที่เราคิดกันไปเองทั้งนั้น

...


ชาวต่างชาติพร้อมใจ เราคนไทยต้องช่วยกัน
ณ โรงพยาบาลศิริราช
ภาพโดย Pinit Asavanuchit

...

ขอบคุณ ภาพประกอบจากเฟซบุ๊คของน้องกิ๊ก และเพจ sirirajpr

...

เพียงถ้อยคำธรรมดา ที่กลั่นกรองออกมาจากหัวใจ
ขอบคุณสำหรับทุก comment ครับ


Sunday, October 16, 2011

๑๓๕. ในงานสัปดาห์หนังสือ



ผมชอบเดินเล่นในงานสัปดาห์หนังสือ ตั้งแต่เมื่อครั้งยังจัดอยู่ที่คุรุสภา กระทั่งย้ายมาที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และปักหลักอยู่ที่นี่มากว่า ๑๐ ปี

ผมเป็นคนไม่ร่ำรวย จึงไม่ค่อยมีหนังสือติดมือกลับบ้านมากนัก เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการเดิน - แวะอ่านตามบู๊ธไปเรื่อยเปื่อย รู้สึกคล้ายเดินอยู่ในห้องสมุดขนาดใหญ่ มีหนังสือมากมายให้เลือกอ่าน ต่างแต่ในงานนี้มีหนังสือใหม่ๆ มากกว่า และไม่มีที่ให้ฟุบหลับเหมือนอย่างในห้องสมุดทั่วไป

เวลายืนอ่านนานๆ ก็เกรงใจเจ้าของบู๊ธอยู่เหมือนกัน แต่ครั้นจะหยิบเงินซื้อ หนังสือก็แพงไปหน่อย แม้ว่าจะลดราคาแล้วก็ยังสู้ราคาไม่ไหว จึงต้องรีบอ่านรีบจำกันตรงนั้น ตื่นเต้นดี เว้นแต่เมื่อเจอหนังสือที่หลงใหลกันจริงๆ ค่อยซื้อกลับมา หรือไม่ก็หมายตาเอาไว้แล้วเก็บเงินเพื่อซื้อในงานครั้งต่อไป

จะว่าอ่านแล้วไม่เคยซื้อก็คงไม่ใช่ แต่จะซื้อเมื่อเห็นว่าจำเป็นหรือน่าสนใจจริงๆ ผมมีหนังสืออยู่หลายเล่มเหมือนกัน แต่อาจจะน้อยเมื่อเทียบกับคนอื่นๆ

มีคนบอกว่า "เวลาอ่านหนังสือด้วยความเร่งรีบ มักจะจดจำเนื้อหาได้ดีกว่าอ่านไปเรื่อยเปื่อย" - คงจะจริงอย่างนั้น - การอ่านหนังสือในเวลาจำกัด เรามักจะอ่านอย่างมีจุดมุ่งหมาย หรือเลือกอ่านเรื่องที่เราสนใจมากที่สุดก่อน ก็เลยจำได้ดี - ผมก็เป็นคนหนึ่งที่เป็นแบบนี้

พอรู้ว่าต้องคืน ก็ต้องรีบอ่านรีบจำ ไม่เหมือนกับหนังสือหรือตำราเรียนที่เรามักจะอุ่นใจที่มีมันเก็บไว้ แต่ไม่เคยหยิบมาอ่านสักที

...


มุมรกมุมหนึ่งในห้องของผมเอง

...

เมื่อก่อนนี้ ร้านหนังสือในงานยังมีอยู่ไม่มาก เดินไปเดินมาไม่เท่าไหร่ก็ครบรอบแล้ว เมื่อย้ายมาจัดที่ศูนย์ประชุมฯ มีพื้นที่มากขึ้น ร้านหนึ่งๆ ก็กินพื้นที่หลายบู๊ธ ไม่ได้แออัดกันอยู่ในบล็อกเล็กๆ และไม่ต้องต่อเต๊นท์ออกไปนอกตัวอาคาร

พอเวลาผ่านไป ธุรกิจหนังสือเริ่มเฟื่องฟู ร้านหนังสือจำนวนมากผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด พื้นที่บู๊ธก็ย่อเล็กลงไปทุกที จนถึงที่สุดแล้วก็ต้องต่อเต๊นท์ออกไปนอกตัวอาคาร เพื่อรองรับปริมาณร้านและหนังสือที่เพิ่มขึ้นมาอีกหลายเท่าตัว

ปริมาณหนังสือแปรผันตรงกับจำนวนผู้ซื้อ ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ยิ่งถ้าเป็นวันหยุดก็ไม่ต่างจากปลากระป๋องเลย หลายคนแบกเป้ลากกระเป๋าใส่หนังสือที่ซื้อแล้วหลายใบหลายคัน ลากล้อทับเท้ากันเป็นเรื่องธรรมดา

เคยมีคนถามผมว่า "ไปงานหนังสือแล้วได้หนังสือกลับมากี่เล่ม..." ผมตอบไปว่าได้มาแค่ ๒ - ๓ เล่มเอง พอได้ยินคำตอบอย่างนั้น คนถามก็ตอบกลับมาเบาๆ ว่า "...ไม่คุ้มเลย"

ผมเห็นคนอื่นๆ ซื้อหนังสือกันทีเป็นสิบๆ เล่ม หลายคนขนกลับไม่ไหวจนต้องใช้บริการไปรษณีย์ แต่ผมมีงบอยู่น้อยเลยซื้ออย่างนั้นไม่ได้ หรือถึงจะซื้อได้ก็คงไม่มีเวลาอ่านได้ขนาดนั้น ยังนึกฉงนอยู่ว่าเขาอ่านกันหมดได้อย่างไร

...


...

ทุกๆ ปีมีหนังสือออกใหม่หลายเล่ม หลายคนฟังโฆษณาแล้วก็ซื้อไปตามๆ กัน โดยที่ยังไม่ทันได้คิดเลยว่า หนังสือเล่มนั้นถูกจริตของตนเองหรือเปล่า ซื้อมาแล้วจะได้อ่านหรือไม่ หรือจะกลายเป็นของตกแต่งบ้านไปแทน

ธุรกิจหนังสือมักสะท้อนความ "อยากอ่าน" มากกว่า "การอ่าน" ของคนซื้อ จึงไม่แปลกหากจะมีหนังสือหลายเล่มที่โฆษณากันเอิกเกริก จับกระแสความนิยมแล้วขายดีเป็นเทน้ำเทท่า แต่เนื้อหาภายในกลับทำได้ไม่เท่ากับที่คาดหวัง นั่นเพราะเขาต้องการให้คน "ซื้อ" แต่ไม่คาดหวังให้คน "อ่าน"

ไม่ใช่ว่าหนังสือเหล่านั้นจะไม่ดีเอาเสียเลย เล่มที่ดียังมีอยู่มาก แต่เมื่อเน้นโฆษณาให้คนซื้อมากกว่าอ่าน คุณค่าที่มีอยู่จึงเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

หนังสือทุกเล่มมีคุณค่าในตัวเอง แต่หากคุณค่าของมันเป็นเพียงแค่ของตกแต่งบ้าน หรือแค่ช่วยให้ชั้นหนังสือดูแน่นมากขึ้น ย่อมเท่ากับว่าเรามองข้ามคุณค่าที่แท้จริงของหนังสือเล่มนั้นไปอย่างน่าเสียดาย

เมื่อซื้อหนังสือมาแล้ว เราน่าจะให้โอกาสหนังสือได้ทำหน้าที่ของมันอย่างสมบูรณ์ ช่วยสร้างความเพลิดเพลินและเพิ่มพูนสติปัญญาให้กับเรา มากกว่าแค่ช่วยให้บ้านของเราสวยงาม

...


...

การมีหนังสือเยอะอาจช่วยให้คนอื่นมองว่าเราเป็นคนมีความรู้ แต่ถ้าไม่เคยหยิบมาอ่านแล้ว ไม่ว่าจะมีหนังสืออยู่มากหรือน้อยก็คงมีค่าไม่ต่างกัน จำนวนหนังสือที่เรา "มี" ไม่มีความสำคัญอะไรเลย จำนวนและคุณค่าของหนังสือที่เรา "อ่าน" ต่างหากที่สำคัญ

เพราะเหตุนี้ คุณค่าของงานสัปดาห์หนังสือ จึงไม่ได้อยู่ที่ว่าเรา "ซื้อ" หนังสือมากี่เล่ม แต่อยู่ที่ว่าเรา "อ่าน" หนังสือได้กี่เล่มมากกว่า

...


...

ขอบคุณภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

...

เพียงถ้อยคำธรรมดา ที่กลั่นกรองออกมาจากหัวใจ
ขอบคุณสำหรับทุก comment ครับ


Sunday, October 9, 2011

๑๓๔. น้ำท่วมที่กลางใจ



น้ำท่วมหนัก

ผู้คนแตกตื่น กลัวว่าน้ำจะทะลักเข้าท่วมบ้าน ต่างพากันกว้านซื้อข้าวของกักตุนไว้ยามฉุกเฉิน ร้านค้าหลายแห่งขายอาหาร ขนมขบเคี้ยวและของจำเป็นอื่นๆ จนหมดเกลี้ยง บางคนถึงกับยื้อแย่งกันเพื่อเป็นเจ้าของมาม่าเพียงห่อเดียว

ภัยพิบัติเป็นเรื่องน่ากลัว ไม่มีใครอยากให้เกิด และไม่มีใครอยากจบชีวิตลงด้วยภัยพิบัตินั้น ทุกคนจึงดิ้นรนเพื่อ "ชีวิตของตนเอง" จนบ่อยครั้งกลับหลงลืมไปว่า นอกจากตัวเราเองแล้ว ยังมี "ชีวิตของคนอื่น" ที่อยู่ร่วมสังคมเดียวกัน และประสบความทุกข์เช่นเดียวกับเรา

ชีวิตตัวใครตัวมัน ทำให้สังคมคับแคบเกินกว่าจะอยู่ร่วมกันได้ เปรียบเสมือนห้องใหญ่ที่ถูกกั้นฝา ลดขนาดให้เล็กลงกว่าเดิม จนอาศัยอยู่ได้เพียงคนเดียว ห้องนั้นจึงอึดอัดและโดดเดี่ยว ขยับตัวก็ไม่ได้ จะหาคนคุยด้วยก็ไม่มี ท้ายที่สุดก็เฉาตายอยู่ในห้องเล็กๆ นั้นเอง

แต่แปลก, ทั้งที่รู้กันอย่างนี้แล้ว เพราะอะไรหลายคนจึงพยายามกั้นฝากั้นห้องกันอีก ?

...


...

ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนเอ่อท่วมทั้งท่าพระจันทร์ ท่าช้าง และท่าอื่นๆ โดยรอบ ไม่เว้นแม้แต่ท่าวังหลังซึ่งอยู่สูงกว่า จนตลาดวังหลังกลายเป็นตลาดน้ำไปเสียแล้ว

แม้ว่าระดับน้ำจะสูงมากกว่าทุกปี แต่ดูเหมือนว่าจะยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากน้ำเหนือที่ไหลบ่า จากพายุที่โหมกระหน่ำ และจากฝนที่ตกซ้ำๆ ไม่เว้นแต่ละวัน

เมื่อต้นเหตุของน้ำ คือ พายุฝน ยังไม่อ่อนกำลังลง แต่กลับโถมกระหน่ำอยู่ซ้ำๆ จะคาดหวังให้น้ำที่ล้นทะลักนั้นลดน้อยลงคงเป็นไปไม่ได้เลย เพราะเมื่อมีเหตุแล้วย่อมเกิดผล เมื่อเหตุไม่ดับแล้วผลจะดับได้อย่างไร

จนถึงวันนี้ ระดับน้ำที่ล้นทะลักเข้ามายังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง กลับจะเพิ่มมากขึ้น และจะเพิ่มไปอีกหลายวัน ให้คนกรุงได้ล่องเรือเล่นกลางกรุง และให้ชาววังหลังได้มีตลาดน้ำกับเขาบ้าง ไม่ต้องดิ้นรนไปถึงตลาดน้ำที่ดำเนินสะดวกหรือที่อัมพวา

...


ท่าพระจันทร์
...

มีใครสังเกตบ้างไหมว่า นี่เป็นกฎธรรมชาติที่ธรรมดามากที่สุด คือ "เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จึงเกิด" เมื่อมีเหตุย่อมเกิดผล หากไม่ต้องการให้เกิดผลก็ต้องดับกันที่เหตุจึงจะเหมาะสมที่สุด

น้ำท่วม เกิดจากเหตุคือน้ำ แต่เหตุของน้ำท่วมในตอนนี้เกินกำลังของเราที่จะหักห้ามได้ เพราะเป็นผลรวมจากการกระทำของเรานับเนื่องมาหลายร้อยปี ธรรมชาติรองรับการกระทำอันเลวร้ายของเรามามากเกินกว่าที่เราจะต่อรองเรียกร้องสิ่งใดได้

ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ได้หมายความให้เรางอมืองอเท้าไม่ยอมแก้ไข, ตรงกันข้าม ความรุนแรงของภัยธรรมชาติย่อมย้ำเตือนให้เราตระหนักถึงความรับผิดชอบที่ควรที่มีต่อธรรมชาตินั้น เราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ หากธรรมชาติแปรปรวนก็เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องร่วมกันแก้ไข ไม่ใช่กล่าวโทษ กล่าวว่าเทวดาฟ้าดิน

ไม่เฉพาะแต่เรื่องน้ำท่วมเท่านั้น แม้เรื่องอื่นๆ ในชีวิตของเราก็ตกอยู่ในกฎธรรมชาติข้อนี้เหมือนกัน 

...



...

น้ำท่วมคือความทุกข์ เป็นเหมือนภัยพิบัติที่ถาโถมเข้าสู่ใจของเราโดยที่เราไม่ต้องการ และไม่ทันเตรียมตัวตั้งรับ; พอน้ำบ่าทะลัก เราก็จมหายไปในห้วงแห่งความทุกข์นั้น

ทั้งที่เรารู้ดีว่า เหตุแห่งทุกข์ คือ ความเจ็บช้ำที่ปะทุซ้ำในใจ เกิดจากการปรุงแต่งยึดติดของเราเอง เราอาจฝึกฝนจิตใจให้เข้มแข็งมากพอที่จะผ่อนคลายความเจ็บช้ำนั้นลงไปได้ ไม่เหมือนกับพายุฝนที่เกินกำลังของเรา ภาพในจิตใจนั้นเราเป็นคนสร้างมันขึ้นมาเอง จึงมีแต่เราเท่านั้นที่จะลบภาพร้ายนั้นไปได้

ถ้ามัวแต่คิดซ้ำๆ ถึงความเจ็บช้ำ ความทุกข์ก็ยิ่งท่วมสูงมากขึ้นทุกที เหมือนกับฝนที่ตกมาไม่หยุด แต่ทันทีที่เราได้นั่งพัก แล้วมองหาเหตุของความเจ็บช้ำ ค่อยแก้ไขมันลงไปทีละเปราะ ความทุกข์ร้อนย่อมผ่อนคลายลงไป ฝนที่เคยตกย่อมหยุดลง และระดับน้ำที่เคยท่วมใจก็จะลดน้อยไปเช่นกัน

เราไม่ได้เจอน้ำท่วมกันทุกวัน จะไม่ทันระวังก็ไม่แปลก; ความทุกข์ก็เหมือนกัน ไม่บ่อยหรอกที่เราจะเจอกับความทุกข์จนถึงกับท้อถอย เพียงแต่ทุกครั้งที่เจอ เราต้องเรียนรู้จากมัน ให้ความทุกข์เป็นเสมือนแบบฝึกหัดให้กับใจของเราเอง ถ้าเราหมั่นฝึกฝนอยู่เสมอ ใจของเราย่อมเข้มแข็ง ไม่ว่าในอนาคตจะต้องเจอความเจ็บช้ำที่หนักหนาเพียงไร ผลจากการฝึกฝนย่อมเตรียมใจเรามาแล้วเป็นอย่างดี

บอกอย่างนี้อาจดูเหมือนง่าย แท้จริงแล้วไม่ง่าย แต่ไม่ยากเกินความพยายาม

...


...

น้ำท่วมครั้งนี้อาจยังคงรุนแรงต่อเนื่องไปอีกหลายวัน จนกว่าธรรมชาติจะยอมยกโทษให้กับพวกเรา ยอมอภัยให้กับสิ่งเลวร้ายทั้งหลายที่เราได้กระทำลงไป

แต่ความทุกข์ความเจ็บช้ำในใจของเราอาจหยุดลงได้ในทันที ขอเพียงแต่เราตั้งสติ มองหาเหตุของความเจ็บช้ำด้วยใจที่ผ่อนคลาย แล้วแก้ไขไปทีละเปราะ ปัญหาที่เคยหนักย่อมจะคลี่คลายไปในที่สุด

อาจจะเหนื่อยอยู่บ้างในตอนแรก แต่คงจะดีกว่านั่งฟูมฟาย แต่กลับไม่ได้แก้ไขอะไรเลย

...

...

ขอบคุณภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

...

เพียงถ้อยคำธรรมดา ที่กลั่นกรองออกมาจากหัวใจ
ขอบคุณสำหรับทุก comment ครับ



Sunday, October 2, 2011

๑๓๓. จุดเริ่มต้น บนทางที่ยาวไกล



[บางห้วงคำนึง]

...

๑.

การเดินทางบนเส้นทางที่ยาวไกล
บางที, เราไม่รู้เลยว่า จุดหมายนั้นอยู่ไกลเพียงไร
ในระหว่างการเดินทาง จะมีอะไรรอคอยเราอยู่บ้าง
ซ้ำร้าย, เราอาจไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่า เราจะไปที่ไหนกัน

...

 

...

๒.

ชีวิตคนเราก็เหมือนกับการเดินทาง เดินไปไกลแสนไกล
บ่อยครั้งที่เราเดินเพียงสักแต่ว่าเดิน เดินเพียงแค่ให้หมดวัน
เหมือนกับเป็นหน้าที่ บีบบังคับว่าเราต้องเดินไปเรื่อยๆ
แต่เรากลับไม่เคยรู้เลยว่า เรากำลังเดินอยู่ที่ใด และจะเดินไปที่ใด
ก้าวทุกก้าวที่ผ่านมา จึงไม่เคยมีความหมาย

ยิ่งสังคมเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็ว ชีวิตก็ยิ่งดูเร่งร้อน
เวลามีค่ามากเกินกว่าจะหยุดพัก, แม้เพียงชั่วขณะ,
เราจึงไม่พร้อมที่จะผ่อนใจคิด ไม่แม้แต่จะมองสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว
เราหลงลืมว่าเรากำลังทำอะไร อยู่ที่ใด และจะไปแห่งใด
จนในที่สุด ก็หลงลืมได้แม้กระทั่งตัวของเราเอง

"...ท่ามกลางสังคมที่บีบคั้น แข่งขันกันอย่างบ้าคลั่ง
เราถูกบังคับให้เต้นตามกระแสสังคมอย่างไร้จุดหมาย
ยิ่งจังหวะถี่กระชั้น ก็ยิ่งฉุดกระชากตัวของเราให้หลุดลอยหายไป
ทันทีที่จังหวะนั้นหยุดลง เราก็ไม่เหลือตัวของเราเองอีกแล้ว..."


เมื่อเป็นอย่างนี้ แม้เราจะเป็นคนเดินอยู่เองก็จริง
แต่ถ้าเราไม่รู้ใจของเราเอง ไม่รู้จุดหมายที่เราจะไป
ก็เหมือนกับว่า เราเสียแรงไปโดยไม่ได้เดินไปที่ไหนเลย

ถ้าต้องเหนื่อยเปล่าอย่างนั้น หยุดพักสักหน่อยดีไหม ?
ผ่อนคลายความเร่งร้อนที่รุมเร้า ค่อยๆ มองย้อนกลับสู่ภายใน
หายใจเข้าออกช้าๆ แล้วถามตัวเองเบาๆ
ว่า เราตั้งใจจะเดินไปถึงไหนกัน ?

เมื่อนึกได้แล้ว ค่อยออกเดินทางกันต่อไป ตามที่ใจเราบอกมา
ถึงจะช้าหน่อย แต่คงไม่สายเกิน

...


...

๓.

หากเราตระหนักถึงจุดมุ่งหมายของเรา
มองเห็นว่าเราจะเดินไปที่ไหน ไกลสักเพียงไร
เราจะเริ่มใส่ใจกับทุกๆ อย่างที่ผ่านเข้ามาระหว่างทาง
เราจะคอยหมั่นสังเกตอย่างตั้งใจ ตลอดการเดินทางของเรา
เพื่อที่จะเฝ้าดูว่า เราเดินมาไกลเพียงไร ถึงไหนแล้ว
และเรายังต้องเดินอีกไกลสักเท่าไหร่ กว่าจะถึงปลายทาง

สิ่งต่างๆ ที่เราพบเจอระหว่างทาง คือประสบการณ์
คือรางวัลอันล้ำค่า ที่ตอบแทนให้กับความมุ่งมั่นของเรา
และจะกลายมาเป็นต้นทุนที่หนุนให้เรายังมีกำลังก้าวต่อไป
ไกลตราบเท่าระยะทางระหว่างจุดหมายที่เรารอคอย

เมื่อเรามองเห็นจุดหมาย มองเห็นเส้นทางที่ชัดเจน
เราจะเดินไปบนเส้นทางนั้นอย่างมั่นใจ, ด้วยตัวของเรา,
ค่อยๆ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ สุขสำราญกับทุกก้าวที่เราเดิน
เต็มเปี่ยมด้วยกำลังกายและกำลังใจไปตลอดทาง

ก้าวทุกก้าวของเราจะมีความหมาย
ทุกวันเวลาของเราจะไม่ไร้คุณค่าอีกต่อไป

...


...

๔.

เส้นทางชีวิตนั้นมีหลากหลาย แตกต่างกันไปในแต่ละคน
จึงทำให้ประสบการณ์ของเราทุกคนมีสีสันไม่เหมือนกัน
การแบ่งปันเรื่องราวจึงสำคัญ เพราะช่วยให้เราได้เรียนรู้มากขึ้น
การเดินคนเดียว บนเส้นทางเดียวอาจทำให้เราถึงจุดหมายได้ก็จริง
แต่เราก็เรียนรู้ชีวิตได้จากประสบการณ์ของเราเพียงคนเดียว
คงจะดีกว่านั้น ถ้าเราได้เรียนรู้ประสบการณ์ของคนอื่นๆ ไปพร้อมกัน

ถ้าเราเชื่อว่า ประสบการณ์คือส่วนประกอบสำคัญของชีวิต
การเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ก็คือการเติมเต็มชีวิตของเรา
แต่ลำพังเพียงประสบการณ์ของเราคนเดียว คงไม่ครบทุกแง่มุม
หรือในวันนี้อาจครบ แต่วันข้างหน้านั้นเราไม่รู้เลย
ตรงกันข้าม, หากเราได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคนอื่นๆ บ้าง
ย่อมจะช่วยเติมเต็มแง่มุมชีวิตได้มากขึ้นกว่าที่เคยเป็น

เราจะมองเห็นสิ่งที่เราไม่เคยเห็น เราจะรู้จักสิ่งที่เราไม่เคยพบเจอ
เราจะเข้าใจเส้นทางอื่นๆ แม้ว่าเราจะไม่เคยเดินผ่าน
นั่นเพราะเราได้เรียนรู้ จากประสบการณ์ที่แลกเปลี่ยนร่วมกัน

"...การเดินทางเพียงคนเดียว แม้จะมีจุดหมายที่มั่นคงแล้ว
แต่ประสบการณ์ของเราย่อมจำกัดอยู่เพียงเรื่องราวที่เราพบเจอ
ต่างจากการได้รู้จักเพื่อนร่วมทาง ที่แม้จะผ่านมาพบกันเพียงชั่วคราว
แต่ประสบการณ์ที่บอกเล่าสู่กันฟัง แตกต่างหลากหลาย
ย่อมจะมีคุณค่าอยู่กับเราไปอีกนานแสนนาน..."


การแลกเปลี่ยน จะช่วยฝึกฝนใจเราให้รู้จักแบ่งปัน
อันเป็นคุณสมบัติสำคัญในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคม

...


...

๕.

ทุกๆ ก้าวในชีวิต ควรระลึกเสมอว่าเรากำลังเดินอยู่ที่ใด
หนทางข้างหน้านั้น เรากำลังจะไปที่แห่งไหน อีกไกลสักเพียงไร
ระหว่างทางที่ผ่านมา เราได้เรียนรู้เรื่องใดบ้าง
เพื่อให้ทุกก้าวของเรายังมีชีวิต ไม่ใช่เพียงก้าวไปโดยไม่รู้สึกตัว
และเพื่อย้ำเตือนว่าเรายังเป็นเรา ไม่ได้ลบเลือนหายไป

ที่สำคัญ, อย่าลืมที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์เหล่านั้น
เพื่อที่เราจะได้ร่วมเรียนรู้ เติมเต็มแง่มุมของชีวิตให้สมบูรณ์

...


...

ขอบคุณภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

...

ผมเลือกบทความนี้เป็นเรื่องแรก แทนความรู้สึกเมื่อย้ายบล็อกมายัง [ยินดีที่เธอยิ้มได้] http://raynartz.blogspot.com แห่งนี้ หลังจากที่เคยอาศัยอยู่ที่บล็อกเดิมมากว่า ๕ ปี ผ่านเรื่องราวมากมาย ร่วมทุกข์ร่วมสุขมานานจนคุ้นเคยกันดี แต่จำเป็นต้องย้ายมายังบล็อกแห่งนี้ด้วยเหตุผลส่วนตัวบางประการ

แม้จะย้ายบล็อกใหม่ แต่จุดมุ่งหมายยังคงเดิม คือ เป็นสมุดบันทึกเรื่องราวต่างๆ ที่ผ่านมา ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ชีวิต แลกเปลี่ยนความคิดในแง่มุมต่างๆ เพื่อให้เราได้เรียนรู้ร่วมกันเหมือนอย่างเคย

ทุกย่างก้าวมีเรื่องราวให้เรียนรู้
ยินดีต้อนรับสู่บ้านหลังใหม่อย่างคนคุ้นเคยครับ

...

อ่านบทความของผมก่อนหน้านี้ได้ที่
[รัตนาดิศรานุทิน]
http://raynartz.exteen.com 

...

เพียงถ้อยคำธรรมดา ที่กลั่นกรองออกมาจากหัวใจ
ขอบคุณสำหรับทุก comment ครับ